พิษณุโลก - โรงงานเจียระไนเพชร “บลูไดมอน” ปักหลักขยายโรงงานแห่งใหม่ต่อ 230 ล้านบาทเพราะฝีมือแรงงานไทยเด่นแม้การเมืองมีปัญหา ตรงข้ามกับศรีลังกา แต่ยังเชื่อศักยภาพเศรษฐกิจไทย
นางศุกร์ฤทัย กรินทนาคะ ผู้จัดการฝ่ายบุคคลและธุรการ บริษัท โรซี่ บลูไดมอน จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานเจียระไนเพชรโรซี่ บลูไดมอน ลงทุนสร้างโรงงานในเขตเทศบาลนครพิษณุโลกตั้งแต่ปี 2532 ว่าจ้างงาน 470 คน มูลค่าการส่งออกเพชรที่ผ่านการเจียระไนแล้วไปยังโรซี่บลูเอ็นวี ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม เฉลี่ย 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
ในปี 2555 นี้บริษัทขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพื่อสร้างโรงงานเจียระไนเพชรแห่งใหม่ บนเนื้อที่ 7 ไร่ บนถนนเลี่ยงเมืองด้านตะวันตกของจังหวัด ด้วยมูลค่าการลงทุน 230 ล้านบาท แบ่งเป็นโรงงาน 186 ล้านบาท เครื่องจักร 113 ล้านบาท อุปกรณ์และเครื่องมือการผลิตอีก 4.5 ล้านบาท จะก่อสร้างเดือนตุลาคม 55 แล้วเสร็จกรกฎาคม 56 กำลังผลิตเพชรดิบ 35,000 กะรัตต่อเดือน ใช้แรงงาน 1,500-1,850 คน มูลค่าการส่งออก 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ถือว่าเป็นโรงงานใหญ่ที่สุดจาก 12 สาขา เช่น โรงงานที่จีน คนงาน 1,200 คน โรงงานที่ศรีลังกา 1 โรงงาน คนงาน 700 คน โรงงานที่อินเดีย 3 โรงงาน คนงาน 1,500 คน
นางศุกร์ฤทัยบอกว่า เดิมบริษัทแม่ (เบลเยียม) ตัดสินใจขยายการลงทุนเข้ามาในไทยเพราะนโยบายเศรษฐกิจของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ภาวะการเมืองนิ่ง และเลือกปักธงลงพิษณุโลก คือโครงสร้างสาธารณูปโภคตัวเมืองพร้อม ห่างจากสนามบินเล็กน้อย ส่วนการตัดสินใจลงทุนโรงงานขนาดใหญ่เพิ่มก็เพราะศักยภาพฝีมือแรงงานไทยโดดเด่นในเรื่องความซื่อสัตย์ จึงขยายการผลิตจากเพชรดิบขนาดเล็ก 10-30 สตางค์ เป็นการเจียระไนเพชรเม็ดใหญ่ขนาด 1 กะรัตขึ้นไป
นางศุกร์ฤทัยย้ำอีกว่า ฝีมือแรงงานนครพิษณุโลกมีผลมากต่อการขยายการลงทุน ทั้งนี้ การเจียระไนเพชรต้องใช้เวลาฝึกร่วม 1 ปีกว่าจะชำนาญ เดิมเป็นผู้หญิงล้วน แต่ปัจจุบันแรงงานเพศชายล้วนมีฝีมือ บริษัทฯ พร้อมอัดฉีดเงินโบนัสรายเดือน, ค่าน้ำมัน, เลี้ยงอาหารกลางวัน และมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก ซึ่งรวมๆ แล้วค่าแรงเกือบ 300 บาท ดังนั้นเมื่อนโยบายรัฐบาลขึ้นค่าแรง 300 บาท จึงไม่กระทบ ยินดีปรับขึ้นให้ทุกคนตามนโยบาย
ส่วนประเด็นเรื่องการเมืองเริ่มมีปัญหา ผู้บริหารก็พิจารณาต่อเนื่อง คงบอกได้เพียงว่าอาย เพราะจากประเทศศรีลังกาที่เคยมีปัญหาการเมืองแต่ปัจจุบันกลับสงบนิ่ง แต่เมืองไทยมันไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม ถ้าระบบการค้ายังไปได้ นำเข้า ส่งออกยังดีก็ถือว่าไปได้ ยังไม่ถึงขั้นขยายไปประเทศลาวหรือเวียดนาม เหมือนโรงงานเจียระไนเพชรหลายแห่งที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม และลาวแล้ว
สำหรับภาพรวมโรงงานเจียระไนเพชรในประเทศไทยก็ซบเซาลง จากเดิมมีคู่แข่งธุรกิจ 50 แห่ง ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 20 แห่ง เพราะผูกอยู่กับเศรษฐกิจขาขึ้นเท่านั้นเพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
สำหรับกระบวนการผลิตเพชรของบริษัท เริ่มจากศูนย์กลางการค้าเพชรที่ประเทศเบลเยียม เพราะทุกบริษัทแม่ตั้งบริษัทอยู่ที่เบลเยียม จะนำเพชรที่ขุดได้จากแหล่งภูเขาไฟในทวีปแอฟริกาส่งป้อนไปยังโรงงานเจียระไนทั่วโลก รวมถึงโรงงานที่พิษณุโลก ทำการเจียระไนเพชรดิบ และส่งกลับไปที่เบลเยียมต่อ