xs
xsm
sm
md
lg

ชาวดอยหล่อเชียงใหม่รุมต้านสวนสมุนไพรน้ำ ระบุถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์เชียงใหม่ - นักลงทุนต่างถิ่นเจอมวลชน “ดอยหล่อ” ขวางผุด “สวนสมุนไพรน้ำ” ส่งเสริมการท่องเที่ยว รองรับ AEC เช่าที่กรมการศาสนา ยาว 30 ปี ผ่านมา 10 กว่าปียังทำอะไรไม่ได้ แถมชาวบ้านบางกลุ่มเข้าทำบ่อปลา อ้างเป็นพื้นที่สาธารณะหากต้องการพื้นที่จริงขอปีละแสน

นางบุษบง ศรีแสงอ่อน ผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3344 หมู่ 15 ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ จำนวนประมาณ 21 ไร่ ที่เช่าจากกรมการศาสนาแห่งชาติ เป็นระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 7 ก.พ.2544-6 ก.พ.2574 ได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่า ผ่านมาร่วม 11 ปีแล้ว ยังไม่สามารถเข้าไปลงทุนประกอบกิจการใดๆ ในพื้นที่ที่เช่าจากกรมศาสนาฯ ดังกล่าวเลย

ที่ผ่านมา ตนได้เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อทำการถางหญ้าสะสางพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะมีชาวบ้านจำนวนประมาณ 30 คน เข้ามารุมล้อมขัดขวาง และขับไล่ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ตนมีสิทธิตามกฎหมายทุกอย่าง

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีบ่อปลาที่อยู่ในพื้นที่เช่า รวม 3 บ่อ เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่นั้น มีชาวบ้านบางคน รวมถึงคนมีสีดอยหล่อบางนายร่วมกันมีผลประโยชน์อยู่ ด้วยการบุกรุกเข้าไปเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิที่ดิน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ออกมาต่อต้าน

นางบุษบง บอกว่า เรื่องดังกล่าวนี้ได้พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ไม่ว่าจะเป็นกรมการศาสนาฯ, ศูนย์ดำรงธรรม, ผู้ว่าฯ รวมถึง พ.ต.อ.มนตรี พงษ์ทัดศิริกุล ผกก.สภ.ดอยหล่อ และนายอำเภอดอยหล่อด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.55 ที่ผ่านมา นายสราวุฒิ วรพงษ์ นายอำเภอดอยหล่อ ก็มีหนังสือที่ ชม 2417/1664 แจ้งยืนยันว่า นางบุษบง ศรีแสงอ่อน เป็นผู้มีสิทธิในฐานะผู้เช่าพื้นที่ดินวัดดงก้อม (ร้าง) โฉนดเลขที่ 3344 จากกรมการศาสนาฯ จริง และได้ส่งสำเนาแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 ต.ดอยหล่อ เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. เวลา 20.00 น.ที่ผ่านมา ตนเองได้ขอร้องนายอดุลย์ ต๊ะวันวงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 15 ต.ดอยหล่อ ให้นำชาวบ้านมาช่วยฟังคำชี้แจงทั้งหมดของโครงการว่าจะมีลักษณะอย่างไร และความต้องการของชาวบ้านต้องการอย่างไร โดยมี พ.ต.ท.ธวัช พรหมใจ รองผู้กำกับฯ ดอยหล่อ และ พ.ท.นิพนธ์ ตันคำอ้าย มาร่วมรับฟังเป็นพยาน ที่ศาลาอเนกประสงค์ของหมู่บ้าน ปรากฏว่า มีชาวบ้านมาร่วมรับฟังไม่ต่ำกว่า 50 คน

โดยมีการอรรถาธิบายตัวโครงการทั้งหมด พร้อมกับมีเอกสารยืนยันถึงความถูกต้องของสัญญาเช่าต่างๆ ประกอบตัวโครงการเองก็ไม่ได้สร้างมลพิษอะไร เพราะเน้นแต่เรื่องของการปลูกสมุนไพร และการทำตลาดน้ำที่ไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อะไร แต่สุดท้ายแล้วชาวบ้านยังคงยืนกรานว่าไม่ต้องการโครงการดังกล่าว

“ชาวบ้านบอกว่า “ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ” เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วตนเองก็ไม่รู้ว่าจะให้ทำอย่างไรชาวบ้านถึงจะเข้าใจ” นางบุษบงกล่าว นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านบางส่วนยังคงพยายามต่อต้าน และต่อรองว่า จะขอสิทธิชดเชยค่าเลี้ยงปลาปีละประมาณ 1 แสนบาท ซึ่งที่จริงแล้วตนก็พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ล่าสุด กลับมีกลุ่มแม่บ้านออกมาต่อต้านอีก ทำให้ตนไม่มั่นใจว่า แท้จริงแล้ว ชาวบ้านมีเป้าหมายที่แท้จริงอย่างไรแน่

นางบุษบง บอกว่า ที่จริงตนมีโครงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะ สวนสมุนไพร หรือสวนเกษตรศรีดอยหล่อ (หรือตลาดน้ำศรีดอยหล่อ) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางการเกษตร การผลิต และการค้าต่อเนื่องหลังการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งตนมองว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ และของประเทศไทย

ภายในโครงการจะประกอบด้วย สวนสมุนไพร เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ฟาร์มเห็ดออริจิ้น 0.5 ไร่ ฟาร์มไก่ชน 1 ไร่ โรงเรียนบุษบงแพทย์แผนไทย (นวดแผนโบราณ) พร้อมอาคารเรียนและห้องนวด 2 ไร่ ตลาดน้ำศรีดอยหล่อ 8 ไร่ ตลอดจนสระน้ำจะมีร้านค้าประมาณ 50-100 ร้าน และมีสระน้ำว่างเปล่าเช่นเดิม 7 ไร่

โดยสวนสมุนไพรสามารถรองรับการศึกษาของประชาชนทั่วไป และลูกค้าจากต่างประเทศ ขณะที่โรงเรียนแพทย์แผนไทยนั้น ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงในอำเภอดอยหล่อ สามารถเข้ามาฝึกหัดเป็นหมอนวด ที่มีคุณภาพตามตำราทุกประการจากแพทย์แผนไทยที่เชี่ยวชาญ จากนั้นก็สามารถเข้าทำงานร่วมในโครงการ หรือไปทำงานทั้งใน และต่างประเทศได้

ขณะที่ตลาดน้ำเพื่อสุขภาพอนามัยของชุมชน จะมีการจัดเวทีแสดงดนตรีพื้นบ้าน ซุ้มคลินิกรักษาโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อสำหรับนักกอล์ฟ ซุ้มดูแลสุขภาพร่างกายฟรี (โดยความร่วมมือจากสถานีอนามัย) ซุ้มดูแลเรื่องกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังจะเป็นจุดขายสินค้านานาชนิด โดยเฉพาะด้านอาหาร ของกินเล่น สินค้าที่ระลึกอื่นๆ ตามแต่ชาวบ้านในท้องถิ่นจะหามาวางขายได้ ซึ่งในส่วนนี้จะมีประมาณ 50-100 ร้าน โดยทางโครงการจะคิดค่าเช่าในราคายุติธรรม และรายได้จากค่าเช่านั้น ก็จะหักเป็นภาษีและค่าบำรุงท้องที่ตามแต่จะตกลงกันว่าจะมอบให้หมู่บ้าน หรือตำบล

“ตามแผนแล้ว จะเริ่มเปิดดำเนินงานในปี 2556 ที่จะถึงนี้ แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า จะเป็นไปตามแผนหรือไม่”นางบุษบง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาต่อต้านนั้นเป็นเพราะว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีข้อข้องใจเกี่ยวกับโฉนดที่กรมการศาสนานำออกมาให้เอกชนเช่าว่าสามารถออกมาได้อย่างไร ที่ไปที่มาเป็นอย่างไร ชาวบ้านไม่ทราบเรื่องเลย ประกอบกับสระน้ำนี้ชาวบ้านทราบกันต่อๆ มาว่า เป็นที่สาธารณะ ก็อยากให้มันเป็นที่สาธารณะเหมือนในอดีตที่ชาวบ้านสามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นที่สำหรับให้เป็นที่กักเก็บน้ำ ป้องกันน้ำท่วมให้แก่อีกฝั่งถนนหนึ่ง รวมทั้งเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

“เราต้องการอยู่แบบพอเพียง ไม่ต้องการให้โครงการใดๆ ที่จะเข้ามาทำลายพื้นที่เก่าแก่ของเรา”ชาวบ้านกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น