ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ป.ป.ท.ลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย พบที่นาคาเล ต.กมลา มีทั้ง ส.ค.1 บิน และส.ค.1 บวม บางแปลงซื้อขายกันในราคาที่สูงถึงไร่ละ 200 ล้านบาท บางแปลงกำลังก่อสร้างรีสอร์ต หรูมูลค่าหลายพันล้านบาท พบอดีตรองผู้ว่าฯ ภูเก็ตและลูกสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตป่าโซนซีเทือกเขากมลา กำลังปรับพื้นที่สร้างรีสอร์ตเช่นกัน เตรียมฟันข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งอาญาและวินัยอย่างเฉียบขาด
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า จากการที่ ป.ป.ท.ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง เพราะได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินไม่ชอบจำนวนมากในช่วงเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ 6 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เบื้องต้นพบการออกเอกสารสิทธิที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้
การออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน เลขที่ 14262 และ 14263 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ออกเมื่อ พ.ศ. 2554 ของนางสาวจริน เอกา จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการนำ ส.ค.เลขที่ 124 หมู่ที่ 2 มาออกที่หมู่ที่ 6 (หมู่ 6 แยกมาจากหมู่ที่ 3) ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
ซึ่งเป็นการออกโฉนดไม่ตรงที่ตั้งของที่ดิน ส.ค.1 (ส.ค.1 บิน) เนื้อที่ 15 ไร่ และมีการซื้อขายกันประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งทาง ป.ป.ท.ได้ตั้งข้อสังเกตในที่ดินแปลงดังกล่าว ด้านเหนือของ ส.ค.1 เลขที่ 124 ระบุติดที่นา แต่สภาพปัจจุบันเป็นที่ภูเขา จึงไม่สอดคล้องกัน และข้างเคียงทั้ง 4 ด้านไม่สอดคล้องกัน
การออกเอกสารสิทธิที่ดิน น.ส.ก.3 เลขที่ 1139 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต (ส.ค.1 บวม) ออกเมื่อ พ.ศ.2537 โดยออกมาจาก ส.ค.1 เลขที่ 435 เนื้อที่ 8 ไร่ และ ส.ค.1 เลขที่ 168 ระยะที่ระบุใน ส.ค.1 เนื้อที่ 19 ไร่ เนื่องจาก ส.ค.1 ทั้งสองแปลงระบุติดป่า ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2532) การออก น.ส.3 ก. ต้องออกตามระยะที่ระบุไว้ใน ส.ค.1 คือต้องมีเนื้อที่ 27 ไร่ แต่มีการออก น.ส.3 ก. เลขที่ 1139 เนื้อที่ 33-3-36 ไร่
ส่วนที่เกินคือ เนื้อที่ 6-3-36 ไร่ ซึ่งเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ที่ดินแปลงนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดิน ราคาซื้อขายประมาณไร่ละไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ถ้าสร้างโรงแรมเสร็จจะมีราคาหลายพันล้านบาท ที่ดินติดทะเล เป็นอ่าวสวยงาม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย นายอำเภอกะทู้ เจ้าหน้าที่ที่ดินอำเภอกะทู้ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้
การออกเอกสารสิทธิที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 1399 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 7-3-53 ไร่ ออกเมื่อ พ.ศ. 2540 ออกมาจาก ส.ค.1 เลขที่ 226 เป็นการออก น.ส.3 ก.ไม่ตรงตำแหน่ง ส.ค.1 (ส.ค.1 บิน) เพราะ ส.ค.1 ไม่มีแจ้งจดทะเล แต่ น.ส.3 ก.เลขที่ 1399 ติดทะเลทางด้านทิศตะวันตก และข้างเคียงทิศอื่นก็ไม่สอดคล้องกัน และไม่มีการตั้งคณะกรรมการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 พ.ศ. 2537 เพราะที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ ป่าไม้ ที่ดิน
โดยที่ดินแปลงนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดิน ราคาซื้อขายประมาณไร่ละ ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ถ้าสร้างโรงแรมเสร็จจะมีราคาหลายพันล้านบาท ที่ดินติดทะเล เป็นอ่าวสวยงาม
น.ส.3 ก.หมายเลข 2 และ 3 ที่ดินติดกันและเจ้าของเดียวกันคือ บริษัท เอสทีพีกรุ๊ป แมนเนจเม้นท์ จำกัด (ซื้อมาจากนายโสภณ เอกวานิช) อยู่ระหว่างการออกโฉนดที่ดิน
การออกเอกสารสิทธิที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 961, 962 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ออกเมื่อ พ.ศ.2536 และต่อมาได้มีการออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 13754 และ 13755 ออกมาจาก ส.ค. 1 เลขที่ 361 หมู่ 1 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 4-3-20 ไร่ แต่นำมาออก น.ส.3 ก.ที่หมู่ที่ 3 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมีนายแก้ว เป็นผู้แจ้งการครอบครอง และที่ดินทั้ง 4 ด้านไม่ระบุว่าติดบุคคลใด จึงถือว่าเป็นที่ว่างเปล่า ได้นำมาออก น.ส.3 ก.เลขที่ 961 และ 962 เนื้อที่ 21 ไร่เศษ
จากสอบสวนบุตรสาวและหลานชายของนายแก้ว ทั้งสองให้การว่า นายแก้วไม่เคยมีที่ดินทางไปกมลา-นาคาเล ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 361 หมู่ 1 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต อยู่ด้านหลัง หมู่ที่ 1 ต.ป่าตอง และได้ตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. อยู่ในหมู่ที่ 6 ต.กมลา ซึ่งแยกมาจากหมู่ที่ 3 ต.กมลา และที่ดินหมู่ที่ 6 ต.กมลา อยู่ห่างจากหมู่ที่ 1 ต.ป่าตอง เกือบ 10 กิโลเมตร จึงเป็นการนำ ส.ค.1 มาออก น.ส.3 ก. ผิดที่
และเมื่อที่ดินข้างเคียง ส.ค.1 เป็นที่ว่างเปล่าต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2532 ) การออก น.ส.3 ก. ต้องออกตามระยะที่ระบุไว้ใน ส.ค.1 คือ ต้องมีเนื้อที่ 4-3-20 ไร่ แต่มีการออกถึง 21 ไร่ และเป็นการออก น.ส.3 ก.ไม่ตรงตำแหน่ง ส.ค.1 (ส.ค.1 บิน) เพราะผิดหมู่บ้าน ผิดตำบล และ ส.ค.1 ไม่มีแจ้งจดทะเล แต่ น.ส.3 ก.เลขที่ 926 ติดทะเล ได้มีรายงานการสอบสวนเพื่อพยายามให้สามารถออกเอกสารสิทธิได้ โดยสอบสวนพยานว่าแจ้ง ส.ค.1 ผิดหมู่บ้านผิดตำบล
ที่ดินทั้งสองแปลงกำลังก่อสร้างโรงแรมติดทะเล มีราคาซื้อขายไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท
พบอดีตรองผู้ว่าฯ ภูเก็ตออกโฉนดที่ดินในเขตป่าโซนซี
นอกจากนี้ยังมีการพยายามออกเอกสารสิทธิในที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา พื้นที่อนุรักษ์โซนซี ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น ได้มีการออกโฉนดที่ดินไปแล้ว 3 โฉนด พื้นที่ประมาณ 45 ไร่ เป็นโฉนดที่ดินที่มีชื่อของอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต 2 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ เป็นของบุตรสาวอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย 1 แปลง และอีก 1 แปลง และพบว่ากำลังอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาออกโฉนดที่ดินอีกประมาณ 18 แปลง เนื้อที่กว่า 200 ไร่
และจากการตรวจสอบพื้นที่พบว่า ที่ดินที่มีการออกโฉนดที่ดินเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลาและเป็นพื้นที่อนุรักษ์โซนซี สภาพเป็นป่าดิบชื้น เป็นป่าต้นน้ำ และมีการปลูกต้นยางพาราแซมบ้างเป็นบางส่วน และพบป้ายชื่อว่าบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ติดไว้ทางเข้าบ้าน และกำลังสร้างรีสอร์ตชื่อว่า Honey รีสอร์ท พบรถแบ็กโฮกำลังดำเนินการสร้างถนนและรีสอร์ต
รวมทั้งมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ติดทะเล มีความลาดชันเกินร้อยละ 50 หลายแห่ง โดยได้มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องห้ามตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2553 ข้อ 8 ข้อ 10 และข้อ 13 เช่น อีวา บีช ในเขตเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และในพื้นที่ อบต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และหน่วยงานที่ดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้างโดยไม่มีการดำเนินการดังกล่าว คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ท.จะได้ตรวจสอบและดำเนินการทั้งอาญาและวินัยกับเจ้าหน้าที่อย่าเฉียบขาด
อย่างไรก็ตาม ภายหลังแถลงข่าว นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้บินสำรวจพื้นที่ป่าในจังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย