ตรัง - กรรมาธิการการศึกษาในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นปัญหา มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง บุกรุกป่าสงวนสร้างโรงแรม 125 ล้าน เบื้องต้น ที่ประชุมยังหาข้อสรุปไม่ได้ ยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน ฝาก ส.ส.ตรัง นำเรื่องเสนอที่ประชุม พร้อมกับหาทางออกให้โรงแรมได้เดินหน้าสร้างต่อไป
จากกรณีที่ชาวบ้าน ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา นำหลักฐานเข้าร้องเรียนกล่าวหา รศ.ประชีพ ชูพันธ์ รักษาการอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง พร้อมพวกได้บุกรุกแผ้วถางป่าในป่าสงวนแห่งชาติปากคลองกาเส และปากคลองไม้ตาย ม.3 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา เพื่อนำพื้นที่ปลูกปาล์ม และยังรู้เห็นเป็นใจให้ผู้รับเหมาตัดไม้โกงกางในป่าชายเลนมาสร้างโรงแรม โดยใช้งบฯ 125 ล้านบาท ในชายหาดวิวาห์ใต้สมุทร
ซึ่งต่อมา กรมป่าไม้และผู้เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงแรม และพบว่า พื้นที่ก่อสร้างอยู่นอกเขตที่ทางมหาวิทยาลัยได้ขออนุญาตใช้พื้นที่ จำนวน 1,700 ไร่ ตามมติ ครม.2533 และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พบเนื้อที่บุกรุก จำนวน 21 ไร่ ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้ตรวจยึดพื้นที่ทั้งหมด รวมทั้งตัวอาคารที่กำลังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ พร้อมกับแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บริหาร มทร.กับผู้รับเหมา ในข้อหาทำผิด พ.รบ.ป่าไม้ พ.ศ.2481และผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และสั่งให้ยุติการก่อสร้างทั้งหมด จนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด มีรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (6 พ.ค.) ที่ห้องประชุม มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง นายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 พร้อมคณะทั้ง 15 คน ได้ลงพื้นศึกษาข้อเท็จจริง และรับฟังความคิดเห็นในประเด็นปัญหาการก่อสร้างโรงแรมรุกล้ำป่าชายเลน โดยมี นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.ตรัง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรค ปชป.เขต 4 ผู้บริหาร มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ตรัง และ อบต.ไม้ฝาด กว่า 30 คน เข้าร่วมชี้แจงข้อมูล และร่วมหาทางออกในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวร่วมกันกว่า 4 ชั่วโมงเศษ
ทั้งนี้ นายสวัน เสน่หา หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและป้องกัน ทรัพยากรป่าชายเลน ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3 จ.ตรัง ระบุว่า สภาพพื้นที่เดิมก่อนก่อสร้างโรงแรมนั้น ไม่ได้เป็นพื้นที่ป่าชายเลน แต่เป็นพื้นที่ป่าชายเลนโดยการโซนนิ่ง และที่ผ่านมา ได้มีการขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ยื่นเรื่องขออนุญาตใช้พื้นที่ไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อพิจารณาการใช้พื้นที่ดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาเกิดปัญหาข้อพิพาท และมีการฟ้องร้องกันขึ้น ทางกรมฯ จึงต้องลงพื้นที่ตรวจสอบและยึดพื้นที่ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้ติดใจที่จะตรวจยึดพื้นที่แต่อย่างใด
ส่วนทางด้าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคปชป.เขต 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมานายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป.มีแนวคิดอยากให้ จ.ตรัง เป็นสถาบันการศึกษาฝั่งอันดามัน ซึ่งปัจจุบัน เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่มี มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดในประเทศไทย มีทั้งป่าชายเลน รวมทั้งป่าเสม็ดขาว และมีชายทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส.ส.ในพื้นที่พยายามผลักดันงบฯ ในการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาเกิดเหตุการณ์ข้อพิพาท จนเกิดการฟ้องร้องขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ยอม ซึ่งนายชวนเคยให้แนวทางปฏิบัติสำหรับเรื่องดังกล่าวไว้ 2 ทาง คือ หากเป็นเรื่องคดีก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของโรงแรม ถ้ามีช่องทางที่ทำประโยชน์ได้ ก็ให้รีบดำเนินการทันที สำหรับกรณีของ มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ยอมรับว่า ได้ส่งผลกระทบต่อการศึกษา และสิ่งแวดล้อมพอสมควร
ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้ให้แนวคิดว่า หากมหาวิทยาลัยเป็นฝ่ายผิดบุกรุกพื้นที่ จนนำไปสู่การตรวจยึดโรงแรมนั้น ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ควรกลับมาใช้พื้นที่นั้นอีกต่อไป เพราะจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้แก่หน่วยงานอื่นได้ ดังนั้น เชื่อว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายน่าจะหาทางออกอื่นได้
ขณะที่ นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผวจ.ตรัง กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลที่ทุกฝ่ายชี้แจงในที่ประชุมแล้ว เบื้องต้นพอจะสรุปได้ว่า ทาง มทร.วิทยาเขตตรัง บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจริง ดังนั้น ควรจะแยกดำเนินการเป็นเรื่องๆ ไป
นายประกอบ รัตนพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 กล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะกรรมการในวันนี้ สืบเนื่องจากมีข้อร้องเรียนพิพาท 3 ประเด็น คือ 1.ข้อกล่าวหาที่ มหาวิทยาลัยบุกรุกพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ แต่ภายหลังเป็นพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งประเด็นนี้พอจะรับฟังได้ว่า พื้นที่ก่อสร้างโรงแรมอยู่นอกพื้นที่การขออนุญาต แต่ข้อมูลที่ได้รับมายังค่อนข้างสับสน และยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายยังขัดแย้ง และความคิดยังไม่ตกผลึก
ส่วนประเด็นร้องเรียนทุจริตการก่อสร้างโรงแรมก็มีส่วนพัวพันเชื่อมโยงกัน และประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ ที่ผ่านมา รัฐได้ให้งบสนับสนุนมหาวิทยาลัยเพื่อก่อสร้างโรงแรม 125 ล้านบาท แต่เมื่อเกิดข้อพิพาท ก็ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นทางคณะกมธ.ฯ จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาทางออกร่วมกัน โดยได้เชิญอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาด้วย แต่ปรากฏว่าอธิบดีทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้มา แต่ได้ส่งผู้แทนระดับผู้อำนวยการ ซึ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจมาแทน ซึ่งตนจะได้ทำหนังสือสอบถามสาเหตุที่ไม่เข้าร่วมประชุมต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายของทั้ง 2 หน่วยงานโดยตรง
อีกทั้งในช่วงดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศรับสมัครนักศึกษาวิชาการท่องเที่ยวและโรงแรม แต่ก็ไม่สามารถให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติได้จริง ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่ราชการอย่างมาก เพราะคดียังไม่แล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 กล่าวต่อไปว่า จากนี้จะขอความเห็นจากผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่ว่า พอจะมีทางออก หรือช่องว่างที่จะให้มหาวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในการสร้างโรงแรมต่อไป โดยที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมายหรือไม่ เพราะหากปล่อยไว้รัฐก็จะต้องสูญเสียงบ 125 ล้านบาท และยังทำให้ตัวอาคาร และโครงสร้างผุพังไป ทั้งนี้ หากยึดในข้อกฎหมาย มหาวิทยาลัยคงจะเดินหน้าสร้างโรงแรมยาก ดังนั้น จะให้นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ในพื้นที่นำปัญหาที่เกิดขึ้นเสนอเป็นญัตติเร่งด่วนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไปและจะเชิญระดับ รมต.มารับทราบปัญหา และหาทางออกร่วมกัน
ต่อมา นายประกอบพร้อมคณะและที่ประชุม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างโรงแรมดังกล่าว และพบว่า มีการก่อสร้างไปแล้วกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องปล่อยทิ้งรกร้าง เพราะอยู่ในระหว่างคดี