ศูนย์ข่าวศรีราชา - คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ประชุมหาทางออกกรณีประชาชนร้องเรียนการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา โดยมีนางภารดี จงสุขธนามณี เป็นประธาน ได้มีการประชุมหารือกรณีประชาชนในพื้นที่แหลมฉบัง บางละมุง ตะเคียนเตี้ย และนาเกลือ ร้องเรียนคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยมีผู้แทนจากหน่วยราชการ และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ห้องประชุมชั้น 25 อาคารสุขประพฤติ วุฒิสภา ได้แก่ ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลฉบัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำกรมควบคุมมลพิษ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนเทศบาลบางละมุง แหลมฉบัง และประชาชนที่ร้องเรียนประมาณ 20 คน
นอกจากนี้ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดชลบุรี ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาหาทางออกในกรณีดังกล่าวด้วย
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขานุการ และอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เผยว่า ในการประชุม เป็นการให้ประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ได้นำเสนอประเด็นปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ผ่านมาจากกรณีการก่อสร้างท่าเรือในเฟส 1และ 2 และเสนอแนวทางการแก้ไขเยียวยาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาให้ความเห็น และหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งผลการประชุมหารือได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้
1.จากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 และ 2 ที่ผ่านมา ประชาชนในพื้นที่ถูกเวนคืนเป็นจำนวนมากได้รับเงินค่าเวนคืนครอบครัวละ 25,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะไปหาที่อยู่แห่งใหม่ได้ ต้องไปเช่าพื้นที่ของวัดใกล้เคียงอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่มีที่ทำกิน แต่ประชาชนก็ยอมอดทนเสียสละ เพื่อให้เกิดการพัฒนาของประเทศ หากมีการก่อสร้างท่าเรือเฟส 3 อีกจะทำให้เหลือพื้นที่อ่าวบางละมุงให้ประชาชนประกอบอาชีพเมื่อน้ำแห้งประมาณ 500 ไร่เท่านั้น
ซึ่งมีผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงอย่างมาก จึงขอให้ชะลอการพิจารณาโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ไปก่อน และขอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยจัดงบประมาณเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือในเฟส 1 และ 2 ก่อน รวมทั้งให้เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า ท่าเทียบเรือเฟสที่ 2 จะรองรับสินค้าได้เต็มพื้นที่เมื่อไหร่ และการจ้างที่ปรึกษามาทำการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของท่าเรือเฟส 3 นั้น ได้รวมการศึกษาถึงผลกระทบในเฟสที่ 1 และ 2 ไว้ด้วยหรือไม่
2.ให้คณะกรรมการกำกับติดตามการเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีเป็นประธาน ประสานนำข้อคิดเห็นจากอนุกรรมการ และประชาชนเสนอต่อรัฐบาล และให้คณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง และคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมท่าเรือแหลมฉบัง ดำเนินการประชุมร่วมกับภาคประชาชนต่อไป อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปและนำไปสู่การของบประมาณในการลดผลกระทบ และเยียวยาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป ในส่วนคณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบและอาชีวอนามัยของท่าเรือแหลมฉบัง ให้ชะลอการประชุมไปก่อน จนกว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จะได้รับการแก้ไข และเยียวยาจากรัฐบาล
3.ในปีงบประมาณ 2556 การท่าเรือแหลมฉบังจะจัดงบประมาณจำนวน 19 ล้านบาท ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามที่ประชาชนเสนอมา ดังเช่น การจัดพื้นที่ของการท่าเรือ 55 ไร่ สำหรับจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และจัดทำสวนสาธารณะที่พักผ่อนของชุมชน และให้บ้านจำนวน 9 หลัง ที่อยู่ในพื้นที่เวนคืนคงอยู่ต่อไป จัดให้มีการอบรมวิชาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ และรับเข้าทำงานในการท่าเรือ พิจารณาให้ชุมชนในพื้นที่แหลมฉบังที่ถูกเวนคืนคงอยู่ต่อไปคู่กับท่าเรือแหลมฉบัง
โดยการท่าเรือพิจารณาอนุญาตให้พื้นที่ได้รับการจัดสรรน้ำประปา และไฟฟ้าได้ประสานกับสำนักพุทธศาสนาให้วัดแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เวนคืนสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะการบวช และจำพรรษของพระภิกษุได้ เป็นต้น นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตั้งงบประมาณไว้ 80 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี สำหรับพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบ โดยการท่าเรือได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการนำเสนอโครงการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต และสังคมเข้ามาพิจารณาในคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังต่อไป
4.คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดชลบุรี จะลงพื้นที่ในวันที่ 26 กรกฏาคม 2555 เพื่อตรวจเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบังและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการก่อสร้างท่าเรือเฟส 1 และ 2 ตลอดจนหารือร่วมกับหน่วยราชการ และประชาชนในพื้นที่เพื่อพิจารณาหาทางออกร่วมกันต่อไป