xs
xsm
sm
md
lg

ผวา “เต่าปูลู” เกลี้ยงป่าภูซาง พบคนลาวข้ามฝั่งจับส่งขายจีน-เวียดนาม กิโลกรัมละ 4 พัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พะเยา - หวั่น “เต่าปูลู” ป่าภูซางถูกจับส่งขายเกลี้ยง หลังเศรษฐีจีน-เวียดนามนิยมเปิบ เชื่อเป็นยาปลุกพลังทางเพศ พ่อค้าชายแดนเผยชาวลาวลักลอบจับในป่าลาวจนหายากขึ้น เริ่มข้ามฝั่งหาในเขตไทยกันแล้ว หลังราคาพุ่งสูงนับ 10 เท่า จากอดีตขายกิโลกรัมละ 200-300 บาท วันนี้ราคาพุ่ง กก.ละ 4,000 บาท

วันนี้ (20 มิ.ย.) นายอนุศาสตร์ สุริยา กำนันตำบลภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา และพ่อค้าชายแดนในบ้านฮวก กล่าวว่า จากการที่ตนได้มีโอกาสเข้าไปติดต่อทำการค้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว หลายปีที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้ได้มีประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านนิยมเข้ามารับซื้อสัตว์ป่า

เช่น เต่าปูลู ลิ่น เพื่อขายต่อให้กลุ่มนักนิยมบริโภคสัตว์ดึกดำบรรพ์หายากในประเทศจีน-เวียดนาม เนื่องจากเชื่อว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์หายากเหล่านี้เป็นยาบำรุงกำลังทางเพศ ทำให้มีความต้องการทางเพศอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเพศชายเชื่อกันว่าจะทำให้นกเขาไม่หดง่ายเหมือนเต่าปูลูที่โผล่หัวตลอดเวลา และพบว่านิยมบริโภคกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งมีฐานะขั้นเป็นเศรษฐีแทบทั้งนั้น

กำนันตำบลภูซางกล่าวต่อว่า ในอดีตทั้งเต่าปูลูและลิ่นมีราคาที่ กก.ละประมาณ 200-300 บาท แต่เมื่อคนต้องการมากขึ้น ทำให้สัตว์ป่าหายากเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว โดยเต่าปูลูมีการรับซื้อจากไทย กก.ละ 700-800 บาท แต่เมื่อไปถึงประเทศจีนและเวียดนาม จะมีราคา กก.ละ 3,000-4,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของเต่าด้วย ส่วนลิ่น ในอดีตประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมาตัวละ 200-300 บาท พุ่งสูงขึ้นมาเป็น 500-600 บาท ขายที่จีนและเวียดนามตัวละ 2,000-3,000 บาท บางตัวที่ใหญ่มากจะมีราคาสูงถึงตัวละ 10,000 บาท

“เพราะความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ป่าหายาก เช่น เต่าปูลู และลิ่น กำลังกลายเป็นสินค้าของป่าหายากในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อในลาวมีน้อยลง จึงมีการลักลอบเข้ามาหาในพื้นที่ของ อ.ภูซาง จ.พะเยา โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูซางเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าปูลูหายาก ผมเกรงว่าหากไม่ช่วยกันรักษาและอนุรักษ์ไว้สัตว์ป่าหายากเหล่านี้อาจจะสูญพันธุ์ได้” นายอนุศาสตร์กล่าว และว่า

ที่โรงเรียนบ้านฮวก ต.ภูซาง ได้เลี้ยงไว้เป็นศูนย์การศึกษาเรียนรู้เรื่องเต่าปูลูไว้จำนวน 2 ตัว เท่านั้น เพราะที่อยู่ของเต่าปูลูคือป่าลึกที่มีความสูงและความชื้นมากๆ

ด้านนายวิบูลย์ จิระภากรณ์ นายอำเภอภูซาง กล่าวว่า ในฐานะของประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของอุทยานแห่งชาติภูซาง ตนเห็นว่าเมื่อมีการคุกคามสัตว์ป่าหายากเพื่อไปเป็นอาหารของนักบริโภคนิยมบางกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้สัตว์ป่าสงวนบ้านเราต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต ทางอุทยานฯ ก็อาจจะต้องเร่งหาแนวทางอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวนที่หายากให้มากขึ้น พร้อมทั้งหาวิธีการระวังไม่ให้มีผู้ใดมาล่าเต่าปูลูในพื้นที่ด้วย

ขณะที่นายบันทม สมสุวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูซาง กล่าวว่า เต่าปูลู (Platysternon megacephalum) ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพที่ใกล้สูญพันธุ์ และได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ลักษณะของเต่าชนิดนี้มีส่วนหัวใหญ่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนของลำตัว ด้านบนมีแผ่นแข็งปกคลุม ปากงุ้มเป็นตะขอ และมีกรามที่แข็งแรงมาก ทำให้ไม่สามารถหดหัว และส่วนคอเข้าภายในกระดองได้ หางยาวกว่ากระดองและมีลักษณะเป็นข้อเป็นปล้องรูปสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน กระดองหลังและกระดองท้องเชื่อมติดกันด้วยเนื้อเยื่อที่เหนียวมาก มีสันเล็กๆ อยู่ตอนกึ่งกลางกระดองหลัง
 
โดยกระดองหลังมีสีเขียวเข้ม สีน้ำตาลแกมแดง หรือสีดำ กระดองท้องสีเหลืองมีแต้มสีน้ำตาลเข้ม ลูกเต่ามักมีขอบกระดองด้านหลังหยักคล้ายฟันเลื่อย เต่าปูลูจะออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของพวกมันคือ ปูน้ำตก ปลา หอย และกุ้ง เป็นสัตว์กินเนื้อไม่ค่อยชอบกินอาหารจำพวกพืช อาศัยอยู่ตามลำธารน้ำเย็นบนภูเขาสูงระดับกว่า 1,000 เมตร มักจะวางไข่ครั้งละ 3-4 ฟองบนสันทรายเปียกในช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป พบในภาคเหนือลงไปตามแนวเขาด้านตะวันตกไปจนถึงกาญจนบุรี


กำลังโหลดความคิดเห็น