พระนครศรีอยุธยา- “นายกฯปู” ลงพื้นที่พระนครศรีอยุธยา ติดตามการเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำ พร้อมทั้งชมการซ้อมการเตือนภัย และแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม
เวลา 15.00 น. วันนี้ (11 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการสร้างคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรม พร้อมมอบเงินสนับสนุนให้แก่นิคมฯ สำหรับการสร้างคันป้องกันอุทกภัย โดยมีนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ
นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างคันกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 5 แห่งว่า มีความคืบหน้าไปมากแล้ว เป็นที่น่าพอใจ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน แล้วเสร็จร้อยละ 35 ไฮเทค ร้อยละ 41 เขตประกอบการโรจนะ ร้อยละ 24 แฟคทอรี่ แลนด์ร้อยละ 80 เนื่องจากมีพื้นที่ไม่มาก และรอเพียงการสร้างถนนยกระดับด้านหน้า ซึ่งใช้งบประมาณจากกรมทางหลวงชนบท ส่วนนิคมสหรัตนนคร อ.นครหลวง จะมีผู้บริหารใหม่เข้ามาบริหารจัดการในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การก่อสร้างโดยภาพรวมทั้ง 5 พื้นที่ จะสามารถดำเนินการเสร็จภายในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะสอดรับกับระยะเวลาก่อนที่น้ำจะเข้าพื้นที่ในปี 2555
“ระดับคันกั้นน้ำที่ก่อสร้างได้ใช้ระดับน้ำในปี 2554 เป็นหลัก และบวกเพิ่มอีก 50 เซนติเมตร ถ้าน้ำมาในระดับของปี 2554 ก็จะสามารถรับน้ำได้อย่างแน่นอน” นายประยูร กล่าว
จากนั้น คณะของนายกรัฐมนตรี เดินทางต่อไปยังวัดโพธิ์ลิง อำเภอเสนา ชมการซ้อมการเตือนภัย และแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม โดยมีการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ทั้งในเรื่องการแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัย การอพยพประชาชน ทรัพย์สิน และสัตว์เลี้ยง การเผชิญเหตุ การบริหารศูนย์พักพิง โดยมีระดับการฝึกซ้อม 3 ระดับ คือ ระดับชุมชน ท้องถิ่น อำเภอ ระดับจังหวัด และระดับการเข้าสนับสนุนจากหน่วยงานนอกพื้นที่จังหวัด
จากนั้น คณะของนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่รับน้ำนอง ประตูระบายน้ำกบเจา อำเภอบางบาล โดยนายไมตรี ปีตินานนท์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก อ.บางบาล เสนา และผักไห่ จะเป็นอำเภอที่น้ำท่วมเป็นประจำ ส่วนอำเภอมหาราช บ้านแพรก และบางปะหันบางส่วน หากน้ำมาปริมาณมากและเป็นวงกว้าง ก็จะเกิดผลกระทบ ล่าสุด ทั้ง 6 อำเภอ ได้กำหนดให้ใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก หรือแก้มลิง โดยเฉพาะทุ่งบางบาล หรือโครงการบางบาล 1 ที่มีพื้นที่ 27,000 ไร่ เป็นระบบสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากเก็บเกี่ยว ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีด้วยการทำนาปีละ 2 ครั้ง โดยในพื้นที่จะมีโรงสูบน้ำ 4 โรง ใช้เวลาประมาณ 7 วันในการระบายน้ำเข้า-ออกเต็มพื้นที่ สามารถกักเก็บน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร และชาวนาได้รับผลประโยชน์จากการใช้น้ำ และใช้ทุ่งนาเป็นที่รองรับน้ำ
จากนั้น คณะรัฐมนตรีเดินทางไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารไทรทอง เขตเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา โดยนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวิวทิวทัศน์ แล้วจึงกลับกรุงเทพมหานครฯ