xs
xsm
sm
md
lg

“วิทยา” เผยเขื่อนกั้นนิคมอุตฯ เสร็จตามแผน รับทางหลวงชนบท-ชลประทานยังอืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.สาธารณสุข เตรียมรายงานนายกฯ แจงคืบหน้าแผนกันน้ำท่วม “อยุธยา” พรุ่งนี้ เผยงบฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม 89 โครงการ 1.2 หมื่นล้านเดินหน้าตามแผน รับโครงการทางหลวงชนบท-ระบบชลประทานยังอืด มั่นใจเขื่อนนิคมอุตฯ ไร้ปัญหาเสร็จ ส.ค.นี้ พร้อมจัดชุดแพทย์สนามฉุกเฉินรับมือภัยพิบัติ ถึงพื้นที่เร็วภายใน 6-12 ชั่วโมง

วันนี้ (10 มิ.ย.) นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงผลความคืบหน้าในการจัดสรรงบประมาณในการฟื้นฟูเยียวยาจากเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2554 ในส่วนของ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ล่าสุดตนในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานตามงบประมาณ 12,294 ล้านบาทจาก 89 โครงการ พบว่าแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบต่างเร่งดำเนินการตามที่ได้รับจัดสรร อย่างไรก็ตาม ยังมีบางโครงการที่ล่าช้า โดยเฉพาะทางหลวงชนบท และระบบชลประทาน ตนจึงกำชับเร่งรัดให้เสร็จสิ้น เพื่อนำเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) พร้อมกันนี้ยังได้กำชับถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมถึงบ้านเรือนเสียหายให้ดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็วเช่นกัน

ส่วนความคืบหน้าของการสร้างคันกั้นน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น นายวิทยากล่าวว่า แต่ละนิคมอุตสาหกรรมมีความคืบหน้าไปพอสมควรมากแล้ว ทั้งนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน แล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 35 นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แล้วเสร็จราวร้อยละ 25 นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคเสร็จแล้วมากกว่าร้อยละ 40 ขณะที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ วังน้อย คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 80 ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ทราบว่ามีปัญหาการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร และจะมีผู้บริหารใหม่เข้ามาบริหารจัดการภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายวิทยาพร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เยี่ยมชมการฝึกซ้อมร่วมการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินภาคสนาม ระหว่างชุดแพทย์สนามฉุกเฉินระดับตติยภูมิ (Medical Emergency Response Team : MERT) หรือชุดเมิร์ท กับทหาร และเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ (เขาอีโต้) อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับภาวะภัยพิบัติ เช่นน้ำท่วมน้ำป่าไหลหลาก และแผ่นดินถล่ม

โดยนายวิทยากล่าวถึงโครงการนี้ว่า ขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาภัยพิบัติถี่ขึ้น เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม สึนามิ วาตภัย เป็นต้น มีผลถึงการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนในเวลาเดียวกันจำนวนมาก ในการรับมือและลดการสูญเสียชีวิตผู้ประสบภัย ได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ พัฒนาชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติหรือชุดเมิร์ท เหมือนมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการที่มีศักยภาพความพร้อมสูง คล่องตัว ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สามารถออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ เมื่อได้รับการร้องขอจากพื้นที่ประสบภัยหรือการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาภายใน 6-12 ชั่วโมง ขณะนี้ทั่วประเทศมีชุดเมิร์ทแล้ว 14 ชุด โดยอยู่ในส่วนกลางที่โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กทม.7 ชุด ที่เหลืออีก 7 ชุดอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ 7 จังหวัดได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ชลบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี สระบุรี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ตั้งเป้าขยายจะให้ครบทั้ง 18 เขตตรวจราชการอย่างน้อยเขตละ 1 ทีมภายในปี 2556

สำหรับการฝึกซ้อมภาคสนามนั้นได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย. 55 ที่วัดเขาอีโต้ และบริเวณอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ (เขาอีโต้) อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี มีโรงพยาบาล จาก 7 จังหวัดเข้าร่วมได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ชลบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี สระบุรี และโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ อีก 6 แห่งได้แก่ รพ.เลิดสิน รพ.ราชวิถี รพ.นพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รพ.สงฆ์ และรพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) รวมทั้งหมด 34 แห่ง โดยมีทั้งการบรรยายเนื้อหาทางวิชาการ สาธิตการค้นหาและลำเลียงผู้ป่วยในรูปแบบต่างๆ เช่น ทางหน้าผา ทางลำธาร ร่วมกับชุดปฎิบัติการค่ายพรหมโยธี กองพันเสนารักษ์ที่ 2 และจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝึกซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การทำลายล้างพิษสารเคมี การตั้งสถานที่ให้บริการแพทย์สนาม การคัดแยกผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจำนวนมากของชุดเมิร์ท เพื่อให้มีความพร้อมปฏิบัติการเมื่อเกิดสถานการณ์จริงตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น