xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแผนพัฒนากว๊านพะเยา-พบตัวเลขของบงอกไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เล็งเสนอ “ปู” ขอไฟเขียวแผนพัฒนากว๊านฯ ระหว่างลงพื้นที่ติดตามโครงการพระราชดำริ “กว๊านพะเยา”-ทำบุญฉลองหอฉันวัดเชียงบาน 3 มิถุนายนนี้ พบตัวเลขงบงอกไม่หยุด จากปี 52 เคยยื่นขอ 800 ล้านบาท แต่ล่าสุดวันนี้ตัวเลขพุ่งไปถึง 1,500-2,189 ล้านบาทแล้ว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา เขต 2 พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า ตามกำหนดการปฏิบัติราชการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาจังหวัดพะเยาวันที่ 3 มิถุนายน 55 นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนากว๊านพะเยา โดยจะเป็นการติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมด้วย ขณะเดียวกันก็จะเดินทางไปเป็นประธานเปิดงานฉลองหอฉันของวัดเชียงบาน ต.เชียงบาน อ.เชียงคำ จ.พะเยา ด้วย

ด้าน น.ส.อรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 55 ได้มีมติอนุมัติในหลักการเรื่องการพัฒนากว๊านพะเยา ในวงเงินงบประมาณ 1,500 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ทางมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมและจัดทำระบบแผนงานพัฒนากว๊านพะเยา คืบหน้าในเรื่องของการจัดเวทีไปมากแล้ว ขณะเดียวกันแผนการพัฒนากว๊านพะเยาจะต้องครอบคลุม ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดูแลพื้นที่ต้นน้ำกว๊านพะเยาทั้ง 13 ลุ่มน้ำ ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำต้นน้ำกว๊านพะเยา โดยจะนำเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 3 มิถุนายน 55 นี้เช่นกัน

“งบประมาณที่ ครม.อนุมัติมาให้แล้ว หากพื้นที่ไม่สนองตอบโดยเร็วอาจจะทำให้เสียโอกาส สำหรับกว๊านพะเยาถือว่าเป็นโอกาสที่ดีแล้ว ดังนั้นทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ต้องเร่งจัดทำแผน นำความต้องการของประชาชนเรื่องการใช้น้ำมาเป็นประเด็นหลักร่วมพิจารณาด้วย” ส.ส.พท.พะเยากล่าว

ทั้งนี้ การผลักดันโครงการพัฒนากว๊านพะเยานั้น สมัย น.ส.เรืองวรรณ บัวนุช เป็นผู้ว่าฯ เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา จังหวัดฯ ได้เสนอของบประมาณปี 2553 พัฒนาลุ่มน้ำกว๊านพะเยาผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน 800 ล้านบาท หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับกว๊านพะเยาเข้าโครงการตามพระราชดำริ โดยโครงการที่เสนอไปประกอบด้วย กิจกรรมกำจัดผักตบชวา 157 ล้านบาท, กิจกรรมการขุดลอกกว๊านพะเยา 150 ล้านบาท, การสร้างสมดุลของระบบนิเวศของพืช และสัตว์น้ำ 21 ล้านบาท, กิจกรรมการปรับปรุงคุณภาพน้ำกว๊านพะเยา 200 ล้านบาท, กิจกรรมการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบกว๊านพะเยา 230 ล้านบาท และกิจกรรมการบริหารโครงการ 42 ล้านบาท รวม 800 ล้านบาท

พร้อมกันนั้น จังหวัดฯ ยังเสนอแผนระยะยาวซึ่งจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจัดการน้ำและพัฒนากว๊านพะเยาทั้งระบบ แต่แล้วแผนงานโครงการดังกล่าวก็ต้องมีอันพับกลับมาทำใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าโครงการยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงตามความเห็นของมูลนิธิชัยพัฒนา

และในสมัยที่นายเชิดศักดิ์ ชูศรี ต่อเนื่องถึงนายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ เป็นผู้ว่าฯ ก็ได้มีการประชุมร่วมกับคณะทำงานส่งเสริมพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นผู้ดำเนินการจัดทำข้อมูลและศึกษาผลกระทบเพื่อรอการพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีการเสนอขอรับงบประมาณไปอีกครั้ง แต่คราวนี้เพิ่มงบประมาณจาก 800 ล้านบาทเป็นราว 970 ล้านบาท โดยมีการปรับแผนไม่ต่างจากแผนเดิมมากนัก แต่แล้วก็ไม่ผ่าน และจังหวัดฯ ก็ได้มีการเสนอแผนเป็นครั้งที่ 3 ในปี 2554

คราวนี้ได้มีการปรับแผนครั้งใหญ่ด้วยงบประมาณที่ขอไปจำนวน 2,189 ล้านบาทประกอบด้วย 5 แผนงานหลัก คือ 1. การจัดการปริมาณน้ำกว๊านพะเยา 2. การจัดการคุณภาพน้ำ 3. การจัดการสัตว์น้ำ 4. การบริหารลุ่มน้ำกว๊านพะเยา และ 5. การติดตามตรวจสอบ

ซึ่งทั้ง 5 แผนงานหลักข้างต้นประกอบด้วย 24 แผนงานย่อย 169 โครงการ โดยการเสนอแผนขอรับงบประมาณจากรัฐบาลในครั้งนี้ มูลนิธิชัยพัฒนายังต้องการให้มีการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นจากประชาชนอีก เพราะเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหญ่ รวมถึงงบประมาณมากขึ้น อีกทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างแท้จริง

ต่อมาก็มีการจัดเวทีรับฟังขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 55 ที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์ โดยมี ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ประจำสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมในเวทีนี้ด้วย โดยภาคเอกชนเสนอขอให้จังหวัดฯ เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากว๊านพะเยาให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งมีแต่ภาคราชการ โดยเฉพาะคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหากว๊านพะเยาที่มีการแต่งตั้งจากทางจังหวัดรวม 19 คนนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ แต่ไม่มีตัวแทนภาคประชาชน

สำหรับผลสรุปการจัดเวทีรับฟังความเห็นในครั้งนั้น ดร.เกษมจะนำผลสรุปจัดทำเป็นรูปเล่มพร้อมทั้งเสียงบันทึกการจัดเวทีทั้งหมดนำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งหากมีพระราชวินิจฉัยเป็นเช่นไร ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการตามนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น