“ปู” มอบเงินหนุนทำเขื่อนกั้นน้ำถาวรให้นิคมฯ 6 แห่ง วงเงินรวม 3,236 ล้านบาทหวังฟื้นเชื่อมั่นเอาอยู่! แต่จ่ายเงินได้จริงต้องรอสำนักงบประมาณ “พงษ์สวัสดิ์” ยันได้แน่เร็วสุด มิ.ย.นี้ แต่เงินออมสินหากกู้ตอนนี้ต้องจ่ายคืนหนี้ใน 7 ปี หากต้องการได้ 15 ปีต้องรอ กฟย.อนุมัติเสนอ ครม.ก่อน
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 11 มิ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เพื่อทำพิธีมอบเงินสนับสนุนการสร้างเขื่อนถาวรจากรัฐบาล วงเงิน 2 ใน 3 การลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการ 6 แห่ง วงเงินรวม 3,236 ล้านบาท หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้อนุมัติเห็นชอบแล้ว ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
“คาดว่าเงินจะถูกส่งผ่านมายังสำนักงบประมาณเพื่อจัดสรรผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะมีการทำสัญญากับผู้ประกอบการทั้ง 6 แห่งเพื่อจัดสรรตามความคืบหน้าของงวดงานแต่ละงวดของเอกชนที่ก่อสร้างไป โดยเราหวังว่าจะจ่ายเงินได้งวดแรกให้เอกชนภายในเดือน มิ.ย.นี้” ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์กล่าว
สำหรับเงินดังกล่าวแยกเป็นการสนับสนุนคือ 1. นิคมฯ สหรัตนนคร 226.030 ล้านบาท 2. นิคมฯ บ้านหว้า(ไฮเทค) 328.288 ล้านบาท 3. นิคมฯ บางปะอิน 316.011 ล้านบาท 4. สวนอุตสาหกรมโรจนะ 1,430.303 ล้านบาท 5. เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร 705.955 ล้านบาท 6. สวนอุตสาหกรรมบางกะดี 230 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมการก่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว 40-50% ยกเว้นนิคมฯ สหรัตนนครที่จะต้องรอการแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการรายใหม่ที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ แต่ภาพรวมก็จะยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่จะสร้างคันดินถาวรเสร็จภายใน 31 ส.ค.ทุกแห่ง
รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ส่วนของเงินกู้ธนาคารออมสิน 1 ใน 3 ที่จะสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรให้นิคมฯ อีกส่วนนั้น ขณะนี้หลักการของออมสินเมื่อยึดตามมติ ครม.คือจะสนับสนุนเงินกู้โดยมีระยะเวลาชำระหนี้ 7 ปี ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี อย่างไรก็ตาม เอกชนได้เสนอให้ขยายเวลาชำระหนี้ 15 ปี แต่หลักการจะต้องผ่านคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย หรือ กฟย.เห็นชอบก่อน ดังนั้น หากเอกชนต้องการคืนเงินกู้ใน 15 ปีก็จะต้องรอกระบวนการจาก กฟย.เพื่อเสนอ ครม.อีกครั้งก่อน
อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 ก.ค. 55 เขตประกอบการอุตฯ นวนครจะมีการทดสอบความแข็งแรงของเขื่อน โดยจะมีการผันน้ำเข้ามาในพื้นที่เพื่อดูว่าน้ำจะซึมหรือไม่ ซึ่งการก่อสร้างเขื่อนในโรจนะจะก่อสร้างเป็นคันดินถาวรแล้วตอกเสาเข็ม Sheet Pile เสริมอีกชั้น ซึ่งจะใช้แบบเดียวกับที่สวนอุตฯ โรจนะเช่นกัน