xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สวล.ลงพื้นที่มาบตาพุด เข้าตรวจ รง.ระเบิด-ก๊าซ รั่วไหล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒสภา และคณะรับฟังบรรยายสรุปที่ห้องประชุมสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยองและเข้าตรวจโรงงานที่เกิดเหตุ
ระยอง - คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ลงพื้นที่มาบตาพุด เข้าตรวจโรงงานระเบิด โรงงานก๊าซรั่วไหล และโรงงานผลิตกรดกำมะถัน

วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมคณะ มี นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผบก.ภ.จ.ระยอง นายประทีป เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายธาดา สุนทรพันธ์ ผู้อำนวยการการนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมบรรยายการสรุป กรณีเหตุระเบิด และเกิดเพลิงไหม้บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และกรณีสารเคมีรั่วไหลของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ต.ห้วยโป่ง

หลังรับฟังบรรยายสรุป นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ได้ข้อสรุปที่เป็นประเด็นหลายประการ จึงจำเป็นที่จะนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการการตรวจสอบ ผลกกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ประกอบการจะต้องทำเสนอคณะกรรมการชำนาญการ เป็นคณะกรรมการหนึ่งในสำนักงานนโยบายและแผน ฝ่ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรการต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีมาตรการที่รัดกุมเพียงพอ เมื่อมีการอนุมัติ EIA ซึ่งผู้ประกอบการก็ใช้เหมือนวีซ่าในการออกใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วนั้น การตรวจสอบกำกับว่าผู้ประกอบการได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของ EIA หรือไม่ ตรงนั้นยังไม่เข้มข้นดีพอ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ยังไม่มีมาตรการกำกับการตรวจสอบ จากการสังเกตเมื่อเกิดเหตุการณ์ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไม่ทราบเหตุในทันที ระบบการควบคุมเครื่องมือในการตรวจสอบอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในโรงงานที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมจะต้องมีระบบที่ทำให้การนิคมฯ สามารถรับทราบถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ทันที เรื่องนี้จะต้องปรับปรุงแก้ไข การเข้าถึงพื้นที่ที่มีปัญหา อุปกรณ์ หรือหน่วยงานซึ่งจะต้องเป็นคนระงับเหตุเบื้องต้นในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมไม่มี สังเกตได้จากการที่ตอบคำถาม หรือสถานีดับเพลิงในอุตสาหกรรมมาบตาพุดไม่มี

ซึ่งเหล่านี้จะต้องเป็นคนระงับเหตุเบื้องต้นได้ แปลกใจว่า ทาง กนอ.มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้อย่างไร จากการสังเกตเมื่อเกิดเหตุกว่าจะระงับเหตุได้ใช้เวลาหลายชั่วโมง หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในขณะที่เกิดเหตุไม่มีหน่วยงานใดทราบเลย ไม่มีข้อมูลโรงงานที่เก็บสารเคมี หรือวัตถุอันตรายอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละประเภทจะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทางในการระงับเหตุ เมื่อเป็นแบบนี้ในการระงับเหตุ ก็ถือว่าเป็นการระงับเหตุแบบขั้นพื้นฐานทั่วไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการล่าช้าในการระงับเหตุ และเกิดการสูญเสีย

ในส่วนผู้ประกอบการ ได้กำชับผู้ประกอบการทั้งหมดนี้ให้ออกเป็นมาตรการในเชิงของกฎระเบียบ และในที่สุดจะต้องออกเป็นข้อของกฎหมาย แต่จะผลักดันในข้อกฎหมายนั้นต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ทางการนิคมฯ ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์มาบังคับใช้ได้ คือ การเพิ่มมาตรการในการบังคับใช้ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ต่อไปต้องผลักดันกฎเกณฑ์ที่จะมาควบคุมในเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการ และชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตให้มากขึ้น

พ.ต.อ.วรพงษ์ เริงธรรม พนักงานสอบสวน (สบ 4) ภ.จ.ระยอง ในฐานะรองหัวหน้าคณะกรรมการสอบสวนคดีนี้ กล่าวว่า การวางรูปคดีการสอบสวน ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ และในการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ในครั้งนี้ได้ยืนยันแล้วว่า 11 ศพ ชื่อ-นามสกุลถูกต้องครบถ้วน และตั้งแต่วันเกิดเหตุจน ณ ปัจจุบัน ไม่มีบุคคลใดมาแจ้งว่ามีใครหาย หรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้เลย มีการตรวจพิสูจน์และญาติยืนยันเป็นญาติตามที่ชันสูตรพลิกศพ เอกลักษณ์บุคคลเรียบร้อย ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีบุคคลภายนอกเสียชีวิต และอีกส่วนของคดี เรื่องการเกิดเหตุ การเกิดระเบิดเกิดจากการกระทำการผิดกฎหมายของบุคคลใดหรือไม่

ซึ่งสำนวนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน ได้รับความดูแลจาก กนอ.ได้ตั้งศูนย์การสอบสวนที่ กนอ.พยานบุคคลตอนนี้ได้มีการสอบสวนไปแล้วหลายสิบปาก อีกส่วนหนึ่งเรื่องพิสูจน์หลักฐาน แต่ยังไม่สมารถเข้าไปภายในที่เกิดเหตุได้ เนื่องจากโครงสร้างของอาคาร ตัวท่อ ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยแล้ว ได้ประสานไปทาง กนอ.และบริษัทแล้วว่า สรุปว่าให้ปิดไม่ให้บุคคลใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด เมื่อได้รับการยืนยันระบบความปลอดภัยเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าเหตุเกิดอย่างไร และพยานหลักฐานมีอะไรบ้าง ถ้าได้ข้อมูลส่วนนี้มา และภาพจากกล้องวงจรปิดก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุมีความเคลื่อนไหวอย่างไร นำมาประกอบข้อเท็จจริงก็จะชัดเจน และใครเป็นอย่างไรเพื่อจะสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีไปตามกระบวนการ

นายบวรวิช ภุชชงค์ ประธานชุมชนซอยร่วมพัฒนา กล่าวว่า การดูแลสภาพเครื่องจักรในโรงงานไม่มีคุณภาพ และระบบความปลอดภัยในโรงงานไม่มีมาตรฐาน ซึ่งเปรียบกับโรงงานกลุ่มปิโตรเคมีขนาดใหญ่ และหลายบริษัท ที่เป็นของชาวต่างชาติไม่ยอมยึดหลักระบบธรรมาภิบาล กอบโกยผลกำไรอย่างเดียว การดูแลและกิจกรรมของชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทางบริษัทชาวต่างชาติไม่ได้สนใจ พอเกิดเหตุทุกครั้ง ตอนแรกบริษัทจะอ้างว่าไม่ใช่ของบริษัทตนเองที่เป็นต้นเหตุ

นี่คือ ปัญหาของบริษัทของชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ยอมรับจึงก่อให้เกิดปัญหาบานปลายและแก้ไขไม่ทันท่วงที จนทำให้เกิดเหตุชาวบ้านต้องสูดดมกลิ่นแก๊สสารพิษจึงทำให้ล้มป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างมาก ฝากให้คณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ช่วยกำชับรัฐบาลให้คัดกรองโรงงานที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ให้มีจิตสำนึกรักคุณธรรม และมีหลักธรรมาภิบาล อย่านึกถึงผลกำไรอย่างเดียว อย่าเอาบริษัทที่เห็นแก่ตัวไม่มีคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้นมีไม่กี่บริษัทที่เป็นแกะดำ ซึ่งทางภาครัฐขอความร่วมมือ หรือแม้แต่ทางการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสั่งการทำ ทำเหมือนกันแต่ทำแบบหลบๆ เลี่ยงๆ ไม่ค่อยรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคมรอบข้าง ฉะนั้น บริษัทเหล่านี้ในอนาคตรัฐบาลต้องบีบบังคับให้ย้ายไปสร้างโรงงานใหม่ที่ต่างประเทศ

นายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ ประธานชุมชนประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง กล่าวว่า จากเหตุการณ์การระเบิดในโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น น้ำที่ใช้ในการดับเพลิงได้ไหลไปตามลำธารลงคลองชากหมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำทะเล แหล่งทำมาหากินของกลุ่มประมงเรือเล็ก สิ่งที่เกิดขึ้นทางบริษัทจะชดเชยและฟื้นฟูอย่างไร ในเรื่องของสัตว์น้ำ และในเรื่องการค้าขายที่จับสัตว์น้ำบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากการดับเพลิงไหลสู่ลงคลองไปยังทะเล ทำให้สัตว์น้ำนั้นขายไม่ได้ พ่อค้าหวั่นผลกระทบกลัวมีสารเคมีตกค้างในสัตว์ทะเล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ กนอ.ออกมาบอกว่าน้ำที่รั่วไหลนั้นผ่านเข้าบำบัดของบริษัทอีกครั้ง

แต่ในทางปฏิบัติข้อเท็จจริงแล้ว น้ำได้ไหลลงสู่คลองออกทะเล ซึ่งชาวบ้านได้เก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่วันที่เกิดเหตุไว้แล้ว พื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ทำไมไม่มีเครื่องมือตรวจสารเคมี แต่กลับมีเครื่องตรวจโลหะเท่านั้น เจ้าหน้าที่ที่เก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจบอกเพียงว่า ตรวจค่าของน้ำแค่สารโลหะหนักเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าตรวจสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่ยอมไปเก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่เกิดเหตุวันแรก กลับปล่อยให้ลงทะเลจนทำให้มีผลกระทบกับสัตว์ และประมงชายฝั่ง น้ำทะเลเป็นสีดำ ชาวประมงเกิดอาการผื่นคันตามร่างกาย

จากนั้น คณะกรรมาธิการ วุฒิสภา ได้เดินทางเข้าไปในบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัดและ บริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเดินทางเข้าไปดูโรงงาน “พร้อมมาศ” โรงงานผลิตกรดกำมะถัน เกิดการรั่วไหลของกรดซัลเฟอร์รวม 4 ครั้ง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนมาบชะลูด และได้กำชับโรงงานให้กวดขันอย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก



กำลังโหลดความคิดเห็น