พระนครศรีอยุธยา - ช่างตีมีดอรัญญิก เมืองกรุงเก่า ที่เคยตีเคียวเกี่ยวข้าวถวาย “ในหลวง” และ “พระราชินี” เมื่อครั้งทรงเสด็จฯ เกี่ยวข้าวปี 2539 ปลื้มปีติเมื่อทราบข่าว “ในหลวง” จะเสด็จ “ทุ่งมะขามหย่อง” อีกครั้ง
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (15 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่หมู่บ้านมีดอรัญญิก ข้างวัดศรีจำปา ต.ท่าช้าง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจากมีชาวบ้านทราบข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ ทุ่งมะขามหย่อง ต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ต่างปลาบปลื้มดีใจ เตรียมไปรับเสด็จพร้อมเร่งตีมีดและเคียวเพื่อนำไปแสดงและถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายพยงค์ ทรัพย์มีชัย อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 170/3 หมู่ 6 ต.ท่าช้าง อ.นครหลวง จ.พระนคศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนมีอาชีพตีมีดมากว่า 40 ปี ซึ่งได้วิชาตกทอดมาจากพ่อแม่ ตนและครอบครัวต่างปลื้มปีติที่ได้ทำเคียวถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาเกี่ยวข้าวที่ทุ่งมะขามหย่อง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2539 ตนได้ทำเคียวเกี่ยวข้าว เรียกว่าเคียวนกกระสา ซึ่งด้ามเคียวทำด้วยมุกอย่างสวยงาม โดยฝีมือช่างนก อยู่ที่บ้านหนองปลิง ส่วนที่สันโค้งของเคียวจะแกะสลักเป็นลายไทยใช้เวลาทำประมาณ 2 อาทิตย์ และได้เข้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ตนเองและวงศ์ตระกูล ซึ่งยังประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตได้ทำเคียวเกี่ยวข้าวถวาย และได้เก็บภาพถ่ายที่ทั้ง 2 พระองค์ได้ถือเคียวที่ตนทำด้วยฝีมือตัวเองตอนเสด็จเกี่ยวข้าวที่ทุ่งมะขามหย่อง ไว้ที่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว
นายพยงค์กล่าวต่ออีกว่า ตนทำมีดได้วันละ30เล่มโดยไปฝากขายตามร้านต่างๆ ในราคาคาเล่มละ 50 บาท ซึ่งทางร้านก็จะนำไปขายเพื่อเอากำไรต่อในราคาเล่มละ 150 บาท สำหรับตนมีลูก 4 คน แต่ลูกหลานแต่ละคนปัจจุบันไม่มีใครสนใจสืบทอดวิชาการตีมีด เมื่อเรียนจบออกมาก็ไปทำงานโรงงานและขายของกันหมดจึงไม่มีคนมาทำแทน ถ้าหากใครสนใจที่จะเรียนรู้การทำมีด ตนก็ยินดีสอนให้โดยไม่คิดเงินค่าสอนแม้แต่บาทเดียว เพื่อจะได้มีคนสืบทอดความรู้ความสามาถในการตีมีดทำเคียว กลัววิชาจะสูญหายไป ซึ่งจุดเด่นของช่างตีมีดแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองแตกต่างกันออกไป สำหรับช่วงนี้ตนได้ผลิตเองและนำไปขายเองที่ร้านค้าที่แยกวรเชษฐ์ที่ทางพัฒนาชุมชนจังหวัดได้จัดสถานที่ไว้ให้ชาวบ้านที่มีสินค้าโอทอปนำไปขาย