xs
xsm
sm
md
lg

อธิการบดี มข.ปัดข้อกล่าวหากรณีอดีตคณบดีนิติศาสตร์ฟ้องศาล แจงแต่งตั้ง-ถอดถอนเป็นอำนาจสภามหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อธิการบดี มข.ปัดข้อกล่าวหาที่ถูกอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ยื่นฟ้องศาลไม่เป็นความจริง แจงอำนาจการแต่งตั้งและถอดถอนคณบดีเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ซ้ำ ก.อ.พ.ร.-ศาลปกครอง วินิจฉัยตรงกันว่ามติสภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเป็นไปโดยชอบ พร้อมตั้งข้อสังเกตอดีตคณบดีฯ นายกิตติบดี เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคณะกรรมการสิทธิ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 เมษายน 55 ที่ผ่านมา นายกิตติบดี ใยพูล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อเอาผิด รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดี มข.และ รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนาบุคลากร ในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ด้วยการปลดนายกิตติบดีออกจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ มข. โดยไม่มีเหตุผลทั้งที่ได้รับการสรรหาคณบดีตามขั้นตอน นอกจากนี้ ยังได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ด้วยการติดป้ายประกาศห้ามอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ พร้อมพวกอีก 6 คน เข้าบริเวณพื้นที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น

ความคืบหน้ากรณีปัญหาดังกล่าว ล่าสุดวันนี้ (4 พ.ค.) รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาของนายกิตติบดีข้างต้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากอำนาจการแต่งตั้งและถอดถอนคณบดีเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2541

ซึ่งในกรณีของนายกิตติบดี ใยพูล นั้น สภามหาวิทยาลัยได้ให้โอกาสปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2553 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาสภามหาวิทยาลัยเห็นว่านายกิตติบดียังไม่ได้ดำเนินการบริหารงานของคณะตามบทบาทที่ผู้บริหารระดับคณะพึงกระทำ การจัดให้มีระบบและระเบียบการบริหารคณะให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตลอดจนการจัดทำแผนพัฒนาคณะนิติศาสตร์ ยังขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการที่นำเสนอ

สภามหาวิทยาลัยขอนแก่นในคราวการประชุมครั้งที่ 4/2554 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 จึงไม่อนุมัติให้ขยายเวลาการรักษาการของผู้รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ของนายกิตติบดีออกไป พร้อมทั้งแต่งตั้งรองศาสตราจารย์รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นคนกลางเป็นผู้รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป

ต่อมานายกิตติบดีได้ยื่นอุทธรณ์ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ร้องทุกข์และพิทักษ์ระบบคุณธรรม ประจำมหาวิทยาลัย (ก.อ.พ.ร.) และร้องต่อศาลปกครองจังหวัดขอนแก่น รวมถึงการร้องเพื่อขอให้ศาลปกครองจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ระงับการสรรหาคณบดีคณะนิติศาสตร์ตามประกาศของมหาวิทยาลัยไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา และให้นายกิตติบดีปฏิบัติงานต่อไปในตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์

ซึ่งทั้ง ก.อ.พ.ร. และศาลปกครองก็มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน คือ การกระทำดังกล่าวของสภามหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเป็นไปโดยชอบ และเป็นการดำเนินการภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2541 อีกทั้งย่อมเป็นดุลพินิจในการบริหารงานบุคคลของสภามหาวิทยาลัย

รศ.ดร.กิตติชัยระบุต่อว่า ส่วนกรณีการห้ามเข้าอาคารเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการไม่แต่งตั้งนายกิตติบดี มีการต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงาน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวผู้บริหารชุดใหม่มีความจำเป็นที่จะต้องรวบรวมเอกสารด้านการเงินและเอกสารสำคัญต่างๆ เพื่อการตรวจสอบและรองรับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จึงได้มีมาตรการห้ามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลและเอกสารหลักฐานโดยตรงเข้าไปในสถานที่หรืออาคารของคณะนิติศาสตร์

โดยคำสั่งดังกล่าวมิได้เป็นคำสั่งที่ห้ามเข้าโดยเด็ดขาด ผู้ที่มีความจำเป็นที่จะเข้าไปยังสถานที่มีสิทธิเข้าไปในสถานที่ หรืออาคารของคณะได้ตลอดเวลาเพียงแต่ให้ขออนุญาตก่อน โดยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 และได้ยกเลิกคำสั่งนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 เนื่องจากผู้บริหารชุดใหม่สามารถดำเนินการจัดการเรื่องเอกสารสำคัญเรียบร้อยแล้ว

อธิการบดี มข.ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องผลการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำเอกสารเพื่อขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ พิจารณาทบทวนรายงานผลการตรวจสอบเนื่องจากมีความคลาดเคลื่อน การรับฟังข้อมูลสาระสำคัญของมหาวิทยาลัยไม่ครบถ้วน และขาดความเข้าใจระบบบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยทำให้การพิจารณาผลเกิดความผิดพลาดได้

มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในบางประเด็น เช่น มหาวิทยาลัยได้รับเอกสารสรุปผลอย่างเป็นทางการของกรรมการสิทธิฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 แต่ปรากฏว่ามีเอกสารรายงานผลการตรวจสอบที่ระบุชื่อของนายกิตติบดี จัดพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปในวันที่ 2 มีนาคม 2555 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเอกสารสำคัญดังกล่าวถูกนำออกมาเผยแพร่ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะได้รับเอกสารอย่างเป็นทางการเกือบหนึ่งเดือนได้อย่างไร

ขณะเดียวกัน นายกิตติบดีเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคณะกรรมการสิทธิฯ และ/หรือคณะอนุกรรมการสิทธิฯ เนื่องจากเคยเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการสิทธิฯ มาก่อน และกรรมการสิทธิฯ บางท่านเคยเป็นอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ในช่วงที่นายกิตติบดีเป็นผู้รักษาการคณบดี

จึงเป็นที่เคลือบแคลงว่า คณะอนุกรรมการสิทธิฯ หรือคณะกรรมการสิทธิฯ มีการตรวจสอบและพิจารณาถึงเรื่องนี้หรือไม่ว่ามีความล่อแหลมต่อประมวลจริยธรรม และหลักการพื้นฐานทั่วไป
นายกิตติบดี ใยพูล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.)
กำลังโหลดความคิดเห็น