ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ยื่นฟ้อง อธิการ ม.ขอนแก่น ใช้อำนาจมิชอบปลดออกจากตำแหน่ง หลังคณะกรรมการสิทธิฯวินิจฉัยสรุปว่า ผู้บริหาร มข.ใช้อำนาจมิชอบ ที่ติดป้ายห้าม "อดีตคณบดี เข้ามหาลัยจนสอนหนังสือนักศึกษาไม่ได้ "ซ้ำทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นดูแคลนจากสังคมรอบข้าง
จากกรณีเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้วินิจฉัยคำร้องของ รศ.ดร.กิตติบดี ใยพูล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นขอนแก่น เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จากกรณีที่อดีตคณะบดี คณะนิติศาสตร์ พร้อมอาจารย์ในคณะฯ อีก 6 คน ถูก รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น ปลดออกจากตำแหน่งคณบดีฯ และฝ่ายบริหารคณะฯ โดยไม่มีเหตุผลอันควร แล้วแต่งตั้งบุคคลอื่น ขึ้นดำรงตำแหน่งคณะบดีคณะนิติศาสตร์ แทน
ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯได้วินิจฉัยคำร้องที่คณะบดีพร้อมพวก ยื่นร้องให้ตรวจสอบ การใช้อำนาจของ ผู้บริหารมข. ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ด้วยการติดป้ายประกาศห้าม อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ พร้อมพวกอีก 6 คน เข้าบริเวณพื้นที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ถือว่าการปฏิบัติดังกล่าวของผู้บริหาร เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือว่ามีความผิด ผู้ถูกละเมิดสามารถฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเอาผิดลงโทษได้
ล่าสุดวันนี้ (27 เม.ย.55) รศ.ดร.กิตติบดี ใยพูล อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นโจทย์ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อเอาผิดกับ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น และ รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนาบุคลากร ในข้อหาหรือฐานความผิดใช้อำนาจโดยมิชอบ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ด้วยการปลด รศ.ดร.กิตติบดีฯ ออกจากคณะบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ได้รับการสรรหาคณะบดีตามขั้นตอน
นอกจากนี้ ยังได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ด้วยการติดป้ายประกาศห้าม อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ พร้อมพวกอีก 6 คน เข้าบริเวณพื้นที่คณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ถือว่าการปฏิบัติดังกล่าวของผู้บริหาร เฉกเช่นอาชญากรร้ายแรง จนได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทำให้ไม่สามารถเข้าสอนหนังสือให้แก่นักศึกษาภายในคณะนิติศาสตร์ได้
ซึ่งกระทำของ รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น และ รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนาบุคลากร ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้วินิจฉัยกรณีนี้ออกมาว่า เป็นการกระทำที่เกินเลยขอบเขตที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันในฐานะมนุษย์ เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นายพงศ์จรัส รวยร่ำ ทนายความ กล่าวถึงการยื่นเรื่องฟ้องร้องเอาผิดผู้บริหารมข.ทั้ง 2 ท่าน ว่ามี 2 ประเด็นปัญหา ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายในเชิงบวก คือ ใช้กฎหมายคุ้มครองสิทธิของคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของผู้บริหารในตำแหน่งหน้าที่ราชการ 2. เมื่อมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้น ให้ดำเนินการตามที่องค์กรอิสระชี้มูล รศ.ดร.กิตติบดี ผู้เสียหายและได้รับผลกระทบ จึงต้องนำคดียื่นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลบังคับอีกครั้งหนึ่ง
“สองประเด็นดังกล่าวเป็นเป้ารหมาย หลักที่นำคดีมาฟ้องร้องในวันนี้ และคดีนี้คาดว่าจะเป็นคดีตัวอย่าง ให้เห็นว่าการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้บริหารต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยปราศจากคุณธรรมกำกับ ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร”
ด้าน รศ.ดร.กิตติบดี กล่าวว่า การยื่นเรื่องฟ้องร้อง อธิการบดี ม.ขอนแก่น และรองอธิการบดีฝ่ายแผนฯ นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นิจฉัยการใช้อำนาจของผู้บริหาร ม.ขอนแก่น จนตนได้รับผลกระทบหลายด้านต่อหน้าที่การงาน และละเมิดสิทธิมนุษยชน ถือว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ตนจึงได้ถือเอาฐานการใช้อำนาจที่ไม่ชอบของผู้บริหาร มานำเสนอต่อศาลว่ากรณีนี้มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเพื่อให้ศาลพิจารณาความผิดของผู้บริหารเพื่อให้รับโทษไป
“การยื่นศาลครั้งนี้ต้องการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคม ซึ่งสังคมในปัจจุบันนี้ เราต่างเรียกร้องความเป็นธรรมาภิบาลในทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษา จำเป็นต้องมีความเป็นธรรมาภิบาลสูงมากกว่าทุกหน่วยงานด้วยซ้ำ” รศ.ดร.กิตติบดี กล่าว