xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเรือต้อนรับ “เรือหลวงอ่างทอง” ลำใหม่ มูลค่าเกือบ 5 พันล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือให้การต้อนรับ “เรือหลวงอ่างทอง” เรือยกพลขึ้นบกลำใหม่ที่ต่อมา มีมูลค่าเกือบ 5 พันล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและป้องกันประเทศ

วันนี้ (19 เม.ย.) พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ฆนัท ทองพูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ เรือหลวงอ่างทอง หมายเลข 791 เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่ ที่กองทัพเรือสั่งต่อจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ เดินทางมาถึงประเทศไทย ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี คณะผู้บังคับบัญชาหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ ข้าราชการ และครอบครัวกำลังพลที่ร่วมเดินทางไปรับเรือยังประเทศสิงคโปร์ มาร่วมให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ และอบอุ่น พร้อมเข้าร่วมในพิธีสงฆ์ มี พระครูวิบูลธรรมบาล เจ้าอาวาสวัดสัตหีบ เป็นประธานสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ให้แก่กำลังพลประจำเรือ เพื่อเกิดความเป็นสิริมงคล

สำหรับ เรือหลวงอ่างทอง เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ประเภท เรือ LANDING PLATFORM DOCK (เรือ LPD) ต่อจาก อู่เรือบริษัท Singapore Technologies จำกัด สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยสร้างตามเรือต้นแบบชั้น ENDURANCE ของกองทัพเรือสิงคโปร์ ซึ่งความจำเป็นในการจัดหาเรือหลวงอ่างทองเข้าประจำการนั้น มีความเป็นมาจาก เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิ รวมถึงภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กองทัพเรือ ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เป็นเพราะความพร้อมของบุคลากรและยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการเป็นสนามบินเคลื่อนที่ สำหรับ รับ-ส่ง ผู้ประสบภัยกลางทะเล รวมไปถึงเป็นโรงพยาบาลเคลื่อนที่สำหรับปฐมพยาบาล และใช้ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยหนักได้เป็นอย่างดี จึงมีความจำเป็นที่ต้องการเรือขนาดใหญ่มาเสริมภารกิจดังกล่าว

พล.ร.อ.ฆนัท กล่าวว่า นอกจากนี้ เรือหลวงอ่างทอง ยังให้การสนับสนุนในภารกิจเรือยกพลขึ้นบก ที่สามารถเข้าไปในพื้นที่น้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง อีกทั้งสามารถขนถ่ายประชาชน และเครื่องจักรกลหนักในปริมาณที่มาก ปัจจุบัน กองทัพเรือมีประจำการอยู่เพียง 2 ลำ คือ เรือหลวงสีชัง และเรือหลวงสุรินทร์
ลำใหม่ที่กองทัพเรือ สั่งต่อจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ เดินทางมาถึงประเทศไทย ณ ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ การดำเนินการจัดหาเรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ประจำการในกองทัพเรือ เป็นไปตามแผนพัฒนากองทัพไทย ในระยะ 9 ปี โดยได้รับอนุมัติงบประมาณจากกระทรวงกลาโหม เป็นเงิน 4,944 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการลงนามสัญญาจ้าง บริษัท Singapore Technologies Marine Ltd. (ST Marine) สาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.51 โดย พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น ร่วมกับ Mr.Chang Cheow Teck ผู้แทนบริษัท ST Marine ลงนามสัญญาว่าจ้าง ณ ห้องรับรองกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร

เรือหลวงอ่างทอง มีพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 24 มี.ค.52 และปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 20 มี.ค.54 โดย พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี กระทั่ง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ คนปัจจุบัน ได้เดินทางไปยังอู่เรือ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อลงนามในพิธีรับมอบเรือหลวงอ่างทอง จาก Mr.NG Sin Chan ประธาน บริษัท ST Marine และนำเรือออกเดินทางเมื่อวันที่ 15 เม.ย.55 มีกำหนดระยะเวลาเดินทาง 3 คืน 4 วัน

พล.ร.อ.ฆนัท กล่าวต่อไปว่า เรือหลวงอ่างทอง มีขีดความสามารถหลักในการเคลื่อนกำลังพลจากทะเลสู่ฝั่ง (โจมตีโฉบฉวย สะเทินน้ำสะเทินบก ) การขนส่งลำเลียงทางทะเล และเป็นเรือบัญชาการฐานปฏิบัติการในทะเล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในภารกิจช่วยเหลือประชาชน บรรเทาสาธารณภัย หรือภัยพิบัติต่าง ๆ และการค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และบริเวณชายฝั่ง มีคุณลักษณะทั่วไปที่สำคัญคือ มีขนาดกว้าง 21 เมตร ยาว 141 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 7,600 ตัน เร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 17 นอต ระยะปฏิบัติการที่ความเร็ว 12 นอต ไม่น้อยกว่า 5,000 ไมล์ สามารถปฏิบัติการในทะเลต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือ Sea State 6 และรองรับกำลังทหารมากถึง 500 นาย

ดาดฟ้า ฮ. Flight Deck) สามารถรับ-ส่ง เฮลิคอปเตอร์แบบ ซีฮอว์ก จำนวน 2 เครื่อง แบบ CH - 47 จำนวน 1 เครื่อง ส่วนโรงเก็บอากาศยาน สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์แบบ ซีฮอว์ก จำนวน 2 เครื่อง นอกจากนี้ บริเวณดาดฟ้าบรรทุก สามารถรองรับรถถังแบบ M60 จำนวน 15 คัน หรือยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ AAVS จำนวน 19 คัน ส่วนอู่บอย (Well Dock) สามารถรับ-ปล่อยเรือ และบรรทุกเรือระบายพลขนาดกลางประจำเรือ จำนวน 2 ลำ รวมทั้งมี Ramp ท้ายเปิด-ปิด ในการรับ-ปล่อยเรือ ยานและยุทโธปกรณ์ ในขณะเรือเดินหรือจอด โดยสามารถต่อเชื่อมโยงกับเรือระบายพลขนาดใหญ่ได้ และยังมีประตูข้างเรือ สำหรับขนถ่ายยานพาหนะได้อีกด้วย
กำลังพลทั้งสิ้น 151 อัตรา  ประกอบด้วยชั้นยศ นาวาโท 1 อัตรา นาวาตรี 6 อัตรา เรือเอก 12 อัตรา พันจ่าเอก (พิเศษ) 3 อัตรา พันจ่าเอก 23 อัตรา จ่าเอก 72 อัตรา และพลทหาร 34 อัตรา มี นาวาโท  ธีรสาร คงมั่น เป็นผู้บังคับการเรือ
ในส่วนระบบการรบ ประกอบด้วย ระบบอำนวยการรบ TERMA C - Flex จากเดนมาร์ก ระบบควบคุมการยิง TERMA C - Fire ประเทศอังกฤษ ระบบอาวุธปืน ปืนหลัก 1 แท่น แบบ OTO Melara 76/62 Super Rapid จากประเทศอิตาลี ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร แบบ Sea Hawk MSI - DS30 MR จากประเทศอังกฤษ และปืนกลขนาด 12.7 มิลลิเมตร จำนวน 6 กระบอก

นอกจากนี้ ยังมีเรือระบายพลประจำเรืออีก 2 ลำ คือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) ยาว 13 เมตร น้ำหนักบรรทุกไม่น้อยกว่า 3.6 ตัน หรือบรรทุกได้ 36 คน ทำความเร็วสูงสุด มากกว่า 15 นอต และเรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) ยาว 23 เมตร น้ำหนักบรรทุกไม่น้อยกว่า 18 ตัน ความเร็วสูงสุดมากกว่า 12 นอต

ด้านการจัดกำลังพลประจำเรือ มีกำลังพลทั้งสิ้น 151 อัตรา ประกอบด้วยชั้นยศ นาวาโท 1 อัตรา นาวาตรี 6 อัตรา เรือเอก 12 อัตรา พันจ่าเอก (พิเศษ) 3 อัตรา พันจ่าเอก 23 อัตรา จ่าเอก 72 อัตรา และพลทหาร 34 อัตรา มี นาวาโท ธีรสาร คงมั่น เป็นผู้บังคับการเรือ โดยหลังสิ้นสุดพิธีรับเรือ เรือหลวงอ่างทอง จะเข้าประจำการที่กองเรือยกพลขึ้นบก และยุทธบริการ กองเรือยุทธการ เพื่อปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น