xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-กัมพูชา จัดประชุมร่วมการค้าพืชผลเกษตรแนวชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ไทย-กัมพูชาจัดประชุมร่วมการค้าพืชผลการเกษตรชายแดน เพื่อลดปัญหา และผลกระทบที่เกิดจากการค้าร่วมกัน และยังพัฒนาการค้าสู่ประเทศที่ 3 ต่อไป

วันนี้ (6 เม.ย.) นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายสมชาติ สร้อยทอง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าร่วมการประชุมร่วมการค้าพืชผลการเกษตรชายแดน ซึ่งจัดขึ้นที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา โดยมีนายชกโช เพียะ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ของประเทศกัมพูชา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยนายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงไปยังหลายประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ผู้ประกอบการค้าไทย ยังได้นำสินค้าประเภทมันสำประหลัง ข้าวเปลือก และพืชผลอื่นๆ ขนส่งข้ามเขตแดไทย-กัมพูชาไปยังประเทศที่มีเขตแดนติดกันอีกหลายประเทศ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเข้าใจผิดขึ้นได้ รวมทั้งป้องกันการสวมสิทธิสินค้าทางการเกษตร ทุกฝ่ายจึงหาแนวทางการดำเนินการป้องกัน และปราบปรามการสวมสิทธิสินค้าต่างๆ ร่วมกัน

ขณะที่นายชกโช เพียะ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า จากความเป็นไปได้ของการค้าชายแดนของทั้ง 2 ประเทศ ที่เริ่มต้นการค้าร่วมกันด้วยวิธีแลกเปลี่ยนผลผลิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเกษตรกรทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีปริมาณไม่มาก แต่เมื่อปริมาณผลผลิตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเกินความต้องการในการดำรงชีพ จึงต้องพัฒนาสู่การค้าเพื่อหวังผลกำไร แต่ก็ยังคงจำกัดอยู่ในเฉพาะพื้นที่บริเวณตามแนวชายแดนที่เคยเป็นชุมชนดั้งเดิม ด้วยการขนส่งข้ามแดนผ่านเส้นทางที่เคยใช้อยู่แต่เดิมยังไม่ได้แบ่งเขตแดน หรืออาณาเขตช่องทางการค้าตามธรรมชาติ หรือเช่นจุดผ่อนปรนทางการค้าอย่างชัดเจน

จนกระทั่งเส้นทางการคมนาคมขนส่งสะดวกขึ้น จึงขยายพื้นที่การค้ากว้างออกไป แต่ก็ยังครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ตามบริเวณแนวชายแดนของประเทศคู่ค้าที่มีเขตแดนติดกันเท่านั้น และผลจากการที่รัฐบาลไทยออกกฎระเบียบในการรับจำนำมันสำปะหลังและข้าว ซึ่งมีผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศกัมพูชาจึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการค้าขายร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น