บุรีรัมย์ -ดีเอสไอเข้าสอบ ผอ.โรงพยาบาล เภสัชกร และแพทย์ที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลยา โรงพยาบาลหนองกี่ จ.บุรีรัมย์ พบเภสัชกรมีการสั่งชื้อยาซูโดอีเฟดรีนโดยพลการ พร้อมเตรียมตรวจสอบการจัดซื้อและเส้นทางการขายยาของเภสัชกรที่ถูกกล่าวหาย้อนหลัง 2 ปี
วันนี้ (6 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีการตรวจพบว่า นายสมพงษ์ ตีรถะ เภสัชกรปฏิบัติการ โรงพยาบาลหนองกี่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ แอบอ้างชื่อโรงพยาบาลสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนชนิดเม็ด จำนวน 90,000 เม็ด และชนิดน้ำ 1,500 ขวด มาจำหน่ายที่ร้านขายยาของตัวเอง
ล่าสุด นายสมชาย ม้าหาญศึก พร้อมด้วย ร.ต.อ.ชยรพ พานิชอัตรา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรข่าว ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขที่คดีที่ 52/2552 กรณีตรวจสอบพบมีการนำยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนออกไปจากโรงพยาบาลโดยทุจริต ได้เดินทางเข้าพบ นายแพทย์บุญโฮม แก้วชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองกี่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อตรวจสอบการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาล โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองกี่ พร้อมเภสัชกร แพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมดูแลยาภายในโรงพยาบาลให้ข้อมูล
จากการตรวจสอบพบว่า ในปี 2554 ยอดการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาลหนองกี่ ที่ทางโรงพยาบาลรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นั้นรายงานไม่ตรงกัน คือ อย.รายงานว่าส่งยาให้โรงพยาบาลเป็นยาชนิดเม็ด จำนวน 190,000 เม็ด และชนิดน้ำ จำนวน 4,500 ขวด แต่ทางโรงพยาบาลหนองกี่ยืนยันว่าได้สั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนชนิดเม็ดเพียง 100,000 เม็ด และชนิดน้ำเพียง 3,000 ขวด จึงสงสัยว่าจะมีผู้แอบอ้างชื่อโรงพยาบาลหนองกี่สั่งซื้อยาซูโดฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
นายสมชาย ม้าหาญศึก พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้รับผิดชอบคดี กล่าวว่า จากการชี้แจงและตรวจสอบข้อมูลตามเอกสารหลักฐานการสั่งยาที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนตามเอกสารหลักฐาน กระบวนการจัดชื้อยา ไม่พบพิรุธว่าทางโรงพยาบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเภสัชกรที่สั่งซื้อยามาเกินจำนวนกว่า 9 หมื่นเม็ด ซึ่งเกินกว่าที่ทางโรงพยาบาลสั่งชื้อมาใช้ในโรงพยาบาลจำนวน 1 แสนเม็ดเมื่อปี 2554 อันอาจเชื่อได้ว่านายสมพงษ์ ตีรถะ เภสัชกรปฏิบัติการ โรงพยาบาลหนองกี่ มีพฤติกรรมแอบอ้างชื่อของโรงพยาบาลในการสั่งซื้อยาซูโดอีเฟดรีนมาจำหน่ายยังร้านขายยาของตัวเองโดยพลการ
ดีเอสไอจะตรวจสอบการสั่งซื้อ และเส้นทางการกระจายยาที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนของเภสัชกรคนดังกล่าวย้อนหลัง 2 ปี คือในปี 2553 และปี 2554 อย่างละเอียดอีกครั้ง โดยยืนยันการสอบสวนจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหามากที่สุด
นายสมชายกล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวจะรวบรวมและรายงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาตรวจสอบและกำหนดวันสอบเพิ่มเติมนายสมพงษ์ เภสัชกรที่ถูกกล่าวหา ถึงวิธีการสั่งยา และการจำหน่าย กระจายยาไปยังที่ใดบ้าง ไปเกี่ยวพันกับขบวนการยาเสพติดหรือไม่อีกครั้ง โดยขณะนี้นายสมพงษ์ยังถูกสั่งให้เข้าไปช่วยราชการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ซึ่งไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี