xs
xsm
sm
md
lg

คนอุบลฯ ปอกเปลือกโครงการยักษ์กระทบแก้มลิงทำน้ำท่วมนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี  จัดเวทีร่วมคิดร่วมแก้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านบาทบริเวณที่ดินติดลำน้ำมูลด้านถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งทำให้พื้นที่แก้มลิงกว่า 500 ไร่หายไป เพราะถูกถมที่ให้สูงจากเดิมถึง 6 เมตร
อุบลราชธานี - นักวิชาการ-ชาวบ้านร่วมสะท้อนอภิมหาโปรเจกต์ รัฐไม่ฟังเสียงชาวบ้าน พร้อมแหกตา! สร้างงานสร้างเงิน แนะนักลงทุนควักเงินลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเพื่ออยู่ร่วมกับชุมชนอย่างสงบสุข ส่วนหอการค้าฝันอุบลฯ เป็นฮับรับสังคมอาเซียน

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่วัดท่ากกแห่ ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดเวทีร่วมคิดร่วมแก้กับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มูลค่าหลายพันล้านบาท บริเวณที่ดินติดลำน้ำมูลด้านถนนเลี่ยงเมือง ซึ่งทำให้พื้นที่แก้มลิงกว่า 500 ไร่หายไปเพราะถูกถมที่ให้สูงจากเดิมถึง 6 เมตร

ทั้งนี้ ได้เชิญนักวิชาการ ประกอบด้วย ศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยโครงสร้างลุ่มน้ำในภาคอีสาน ดร.อนุชา เพียรชนะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายไผท ภูธา นักวรรณกรรมคนลุ่มน้ำชี และนายสมชาติ พงคพนาไกร ตัวแทนหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี มีนายสุชัย เจริญมุกขยนันท น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีชาวบ้านท่ากกแห่ รวมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำมูลที่จะได้รับผลกระทบร่วมรับฟังและแสดงความเห็น

นายสมชาติ พงคพนาไกร รองประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคกลาง นักลงทุนเริ่มมองมาที่ภาคอีสานเพื่อใช้เป็นที่ลงทุนเนื่องจากมีศักยภาพทั้งด้านพื้นที่และแรงงาน โดยเฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานีที่ยังมีพื้นที่สามารถรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ได้จำนวนมาก และสามารถเป็นฮับในภาคอีสานตอนล่างได้ ซึ่งอนาคตจังหวัดจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า จังหวัดอุบลราชธานีมีความได้เปรียบด้านการลงทุนกว่าจังหวัดอื่นในภาคอีสาน สิ่งที่ต้องคิดขณะนี้คือ สถาบันการศึกษาต้องมีหน้าที่สนับสนุนสร้างความแข็งแกร่งในการเลี้ยงสัตว์ และเพาะปลูกของภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในอนาคต

ด้าน ศ.ดร.ประกอบกล่าวว่า กายภาพของลุ่มน้ำในจังหวัดอุบลราชธานีมีลำน้ำน้อยใหญ่หลายสายไหลมารวมกัน ทำให้มีพื้นที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี แต่ที่ผ่านมาเมื่อน้ำท่วมก็ใช้เวลาระบายไม่นานเพราะไม่มีอะไรปิดกั้นทางไหลของน้ำ

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพตามความเจริญของชุมชน เมื่อมีการถมแก้มลิงย่อมไม่เป็นผลดี เพราะจุดรองรับน้ำหายไป ทำให้น้ำท่วมขยายวงกว้างออกไป จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีการสร้างศูนย์การค้าของเครือเซ็นทรัล รวมทั้งศูนย์จำหน่ายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ครั้งนี้ จะเกิดการจ้างงานขึ้นจำนวนมาก

ส่วนภาคเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องพูดคุยกับเจ้าของห้างให้รับซื้อสินค้าเกษตรกรรมไปวางขายในห้างสรรพสินค้า เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างด้วย ก็จะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน

“ตามธรรมชาติบริเวณแก้มลิงเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และชาวบ้านมีการปรับสภาพที่จะอยู่ร่วมกับน้ำมายาวนานหลายชั่วอายุคน เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านที่เสียประโยชน์ เพราะต้องถูกน้ำท่วมนานมีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าครั้งนี้”

ขณะที่ ดร.อนุชากล่าวถึงการถมดินจำนวนมหาศาลในพื้นที่กว่า 500 ไร่ หากคำนวณตามหลักของพื้นที่ ทำให้พื้นที่แก้มลิงที่เคยรองรับน้ำหายไปวันละกว่า 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำจะถูกบีบ แล้วน้ำในลำมูลน้อยจะไปอยู่ที่ไหน โดยธรรมชาติน้ำจะไหลลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งก็คือที่อยู่ของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ และตามประวัติศาสตร์ในรอบ 10 ปี จังหวัดอุบลราชธานีจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ 1-2 ครั้ง ซึ่งเกิดไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ต้องดูกันต่อไปก็คือ ขณะนี้คุณภาพน้ำในลำน้ำมูลน้อยที่โครงการมาก่อสร้างมีคุณภาพน้ำต่ำลงเรื่อยๆ แต่เป็นน้ำที่ต้องนำไปผลิตประปาจ่ายให้คนในตัวอำเภอเมืองใช้ จึงต้องร่วมคิดแก้ไขเรื่องน้ำเสียที่จะปล่อยออกมาจากบ่อบำบัดของห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะซ้ำเติมให้คุณภาพน้ำในลำน้ำมูลน้อยย่ำแย่ลงอีกหรือไม่

ส่วนชุมชนทั้งลำน้ำมูลน้อย และแม่น้ำมูล จากการตรวจสอบทุกปีระดับน้ำท่วมสูงขึ้นและท่วมนานเพราะมีการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำไหล การสร้างห้างสรรพสินค้าและศูนย์จำหน่ายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ อบต.แจระแมได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีท้องถิ่น แต่ส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่อื่นด้วย จึงต้องคิดหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ระหว่างผู้ประกอบการกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ

สำหรับเรื่องการสร้างงาน มองว่าเมื่อไทยเข้าร่วมเป็นสังคมอาเซียน ชาวบ้านที่ถูกจ้างงานช่วงแรกจะไม่ได้รับประโยชน์จากการจ้างแรงงานต่อไป เพราะจะมีแรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาทำงานแทน

“จึงต้องทำสัญญากับผู้ประกอบการถึงระยะเวลาการจ้างแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานในท้องถิ่น เพราะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนในการอยู่อาศัยจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ครั้งนี้”

ขณะที่ นายไผท ภูธา นักวรรณกรรมคนลุ่มน้ำชี ระบุว่า ปัจจุบันชาวบ้านเพาะปลูกไม่เก่งเหมือนบรรพบุรุษ เพราะต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงช่วย และอดีตเมื่อถึงคราวน้ำท่วม คนรุ่นเก่าจะมีพันธุ์ข้าวที่ทนน้ำท่วมได้นานใช้ปลูก

ทุกวันนี้พันธุ์ข้าวเหล่านี้สูญหายไป เพราะทำตามความต้องการทางเศรษฐกิจโดยไม่ดูความเป็นจริงของพื้นที่ และหากจังหวัดเกิดอุทกภัยเหมือนปี 2521 จะเกิดอะไรขึ้นกับชาวเมือง เพราะครั้งนั้นยังมีพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำที่มีปริมาณมากที่สุดที่เกิดน้ำท่วมขึ้นในจังหวัด และน้ำก็ไม่ได้ท่วมอยู่นานเพียง 1 เดือนน้ำก็ลด แต่ทุกวันนี้แนวโน้มน้ำท่วมนานขึ้น เพราะคนไปบุกรุกพื้นที่แก้มลิงและสร้างสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ

ตนสอบถามชาวบ้านทราบว่า การทำโครงการขนาดใหญ่ครั้งนี้ไม่มีการทำประชาคม ไม่สอบถามความเห็นของชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อน รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะผลักดันให้นักลงทุนยอมลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการลงทุนทุกระดับ เพื่อไม่สร้างปัญหาให้ชาวบ้านในภายหลัง ส่วนหน่วยงานรัฐต้องฟังเสียงชาวบ้านให้มากขึ้น ถ้าไม่ต้องการให้เกิดปัญหาภายหลัง

ด้าน ชาวบ้านที่มาร่วมฟังได้แสดงความเห็นว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการที่เข้ารุกพื้นที่แก้มลิงในเขตตำบลแจระแมที่ผ่านมา พวกตนไม่มีโอกาสร่วมรับรู้ จะทราบก็เมื่อมีการก่อสร้างขึ้นแล้ว พร้อมเรียกร้องให้สำนักงานทางหลวงทำประชาพิจารณ์การสร้างถนนวงแหวนเลียบแม่น้ำมูลสายใหม่ เพราะมีการสร้างถนนปิดกั้นทางน้ำ หากต้องการสร้างจริงควรเป็นสะพานยกระดับให้น้ำจากลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำมูลได้สะดวก ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องจมอยู่กับน้ำเป็นเวลานานหลายเดือนเหมือนที่เกิดขึ้นทุกปี
ดร.อนุชา เพียรชนะ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น