xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยฮือ-จี้รัฐเพิ่มราคา 200 ต่อตัน ขู่ไม่ได้กลับไปปลูกข้าวพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - ชาวไร่อ้อยชายแดนตาก ยกคณะบุกอำเภอแม่สอด ขอรัฐจ่ายชดเชยอ้อยป้อนโรงงานผลิตเอทานอล อีก 200 บาท/ตัน เท่าราคาอ้อยพื้นที่อื่น ขู่หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง กองทัพชาวไร่อ้อยจะบุกทำเนียบ และหันกลับไปปลูกข้าวในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียมแทน

วันนี้ (16 มี.ค.) กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เพื่อผลิตเอทานอล จาก 3 อำเภอชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สอด-แม่ระมาด และ อ.พบพระ กว่า 500 คน ได้เดินทางไปรวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สอด จ.ตาก เพื่อประท้วงขอให้รัฐบาลชดเชยราคาอ้อยเพิ่มขึ้นอีกตันละ 200 บาท จากเดิมตันละ 950 บาท เป็น 1,150 บาทต่อตัน เพื่อให้มีราคาเท่ากับอ้อยที่ปลูกในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร หรือ จ.กาญจนบุรี

โดยกลุ่มเกษตรกรได้เรียกร้องที่จะเข้าพบ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผ่านนายปรีชา ใจเพชร นายอำเภอแม่สอด เพื่อขอให้ทางจังหวัดตาก แก้ไขปัญหาโดยการเสนอให้เพิ่มค่าชดเชยอีก 200 บาท และยังยื่นคำขาดว่าหากไม่ได้กองทัพคนอ้อยก็จะบุกทำเนียบทันทีเนื่องจากราคาที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้เกษตรกรขาดทุน มีหนี้สิน และเลิกปลูกอ้อย อันจะส่งผลเสียต่อธุรกิจทั้งระบบ ตั้งแต่การปลูกอ้อยจนถึงการป้อนโรงงานผลิตเอทานอล

พร้อมกันนี้ กลุ่มเกษตรกรได้ถือป้ายเรียกร้อง เพิ่มราคาชดเชย โดยการเขียนข้อความต่างๆ เช่น หากไม่ได้รับการแก้ไขได้ราคาที่ต้องการก็จะเดินทางไปพบนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ที่ทำเนียบรัฐบาล และเกษตรกรจะเลิกปลูกอ้อยในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมและหันไปปลูกข้าวเหมือนเดิม

ซึ่งระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรนั้น พ.ต.อ.เดชชาติ วัฒนพนม ผกก.สภ.แม่สอด ได้นำกำลังตำรวจ พร้อมกำลัง อส.แม่สอด และชุด ชรบ.กว่า 100 นาย เข้าควบคุมสถานการณ์
 
นายบุญปั๋น ละน้อย ประธานเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ตามโครงการลุ่มน้ำแม่ตาว กล่าวว่า พวกเราต้องการถามถึงรัฐบาลว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ อย่างไรเพื่อตัดสินใจว่าจะปลูกอ้อยต่อไปหรือจะเลิก เพราะเรามีต้นทุนในการปลูกและดูแลเพิ่มทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำมัน และค่าแรงงาน แต่ราคาอ้อยกลับได้เท่าเดิม หากพวกเราไม่ปลูกอ้อยและไม่มีอ้อยป้อนโรงงานเอทานอล ที่มีการลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โรงงานก็อยู่ไม่ได้

“ผมกลัวว่า เกษตรกรจะหันกลับไปปลูกข้าวในพื้นที่ปนเปื้อนแคดเมียม และจะทำให้การแก้ไขปัญหาแคดเมียมล้มเหลว งบประมาณที่เคยนำมาแก้ไขปัญหานี้ต้องสูญเปล่า การได้รับเงินชดเชยเพิ่มอีก 200 บาทต่อตันก็เหมือนรัฐบาลให้เป็นกองทุนกับเกษตรกรใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นการช่วยเหลือกันและกัน ทำให้ทุกฝ่ายยืนอยู่ต่อไปได้ ในปี 2554-2555 บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดจำกัด โรงงานผลิตเอทานอล ได้กำหนดนำอ้อยเข้าหีบ 520,000 ตัน แต่ขณะนี้ปิดหีบแล้วมีอ้อยเข้าหีบแค่ 350,000 ตัน นับเป็นปัญหาของโรงงานเช่นกัน”




กำลังโหลดความคิดเห็น