xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานหญิง เตรียมบุกทำเนียบใน “วันสตรีสากล” วอนดูแลสวัสดิการหลังถูกลอยแพ เพราะเหตุน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงเสวนาแรงงานหญิง เตรียมบุกทำเนียบ เรียกร้องรัฐบาลผ่านวันสตรีสากล วอนเยียวยาผู้หญิงหลังประสบภัยน้ำท่วม ถูกนายจ้างลอยแพ ตกงาน-หนี้สินล้น

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา เนื่องในวันสตรีสากล “ชีวิตแรงงานหญิง หลังเผชิญวิกฤตมหาอุทกภัย” เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาใส่ใจดูแลสวัสดิการแรงงานหญิง

นางสาวมณี ขุนภักดี ผู้ประสานงานพื้นที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมา มูลนิธิได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ส่งเสริมความเสมอภาค สิทธิสตรี รวมถึงการเพิ่มโอกาส เพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงได้เท่าเทียมกับผู้ชายมาอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันสตรีสากลที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญ และยอมรับผู้หญิงมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนสังคม แต่ปัญหาที่พบ ยังมีผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม และผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมในปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุการณ์ที่ซ้ำเติมแรงงานหญิง ทำให้ผู้หญิงต้องถูกเลิกจ้าง ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อครอบครัว มีสภาวะเครียด เห็นได้จากข้อมูลที่ทางมูลนิธิลงพื้นที่สุ่มสำรวจแรงงานหญิง 273 ราย อายุระหว่าง 36-50 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ในจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดปทุมธานี

แรงงานหญิงที่ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด หรือ 93.8% ทำงานในตำแหน่งฝ่ายผลิต ปัญหาที่พบระหว่างน้ำท่วม 65.9% ต้องถูกน้ำท่วมที่พัก ในส่วนที่เป็นปัญหาการจ้างงานระหว่างน้ำท่วม 57.1% บริษัทสั่งหยุดงาน รองลงมาต้องหยุดงานเองร้อยละ 22.0 เพราะน้ำท่วมที่พักหรือเส้นทางไปทำงาน ในส่วนที่บริษัทสั่งหยุดงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.4 บริษัทไม่จ่ายค่าจ้างให้ เช่นเดียวกับคนงานที่ลาหยุดงานเองที่ร้อยละ 57.9 ไม่ได้รับค่าจ้าง
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
“สำหรับความเสียหายและผลกระทบหลังน้ำท่วม พบว่า 57% ที่พัก ทรัพย์สินเสียหาย โดยส่วนใหญ่ 80.6% เกิดความวิตกกังวล เพราะกลัวตกงาน/ถูกเลิกจ้าง รองลงมา 63.7% กังวลเรื่องหนี้สิน ที่เหลือกังวลเรื่องการซ่อมแซมบ้าน กลัวรถถูกยึด ที่น่าเป็นห่วงคือ สภาพหนี้สินของแรงงานหญิงต่อคนมีมากกว่า 10,000-50,000 บาท และ 1 ใน 4 ต้องเป็นหนี้นอกระบบ ขณะที่ผลสำรวจยังพบปัญหาต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เช่น ขาดการพูดคุย ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกายกัน” นางสาวมณี กล่าว

นางสาวมณี กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มแรงงานหญิง ต่อการช่วยเหลือเยียวยาปัญหาน้ำท่วม ว่า แรงงานหญิงที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต้องการให้มีเงินช่วยเหลือพนักงาน ฟื้นฟูบริษัทและรับกลับเข้าทำงานใหม่ รวมถึงมีการเยียวยาครอบครัว ซ่อมแซมที่พัก และเสนอให้บริษัทมีเงินกู้ยืมพิเศษปลอดดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาล โดยขอให้มีเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้าน ห้องเช่าตามสภาพความเสียหาย มีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคให้มีเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ มีการดูแลจัดหางานระยะสั้นและฝึกอาชีพระหว่างตกงาน/ระหว่างรอกลับเข้าทำงาน แก้ไขสิทธิประโยชน์เรื่องประกันว่างงานให้ครอบคลุมกรณีน้ำท่วม ดูแลจัดหางานที่เหมาะสมให้กับผู้ตกงาน และจัดศูนย์ฟื้นฟูเยียวยาโดยจัดนักวิชาชีพให้บริการอย่างทั่วถึง

ด้านนางสาวสุรินทร์ พิมพา ผู้นำแรงงานหญิงกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จังหวัดสมุทรสาคร และ จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ในช่วงที่น้ำท่วมมีแรงงานหญิงเข้ามาขอรับคำปรึกษามากกว่า 100 ราย เพราะประสบปัญหาการถูกนายจ้างลอยแพต้องตกงาน และจนถึงตอนนี้หลายคนยังไม่มีงานทำ ไปสมัครงานตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีบริษัทไหนรับเข้าทำงาน เนื่องจากอายุมากเกินไป รวมถึงกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ไม่ได้ครอบคลุมให้สิทธิในการช่วยเหลือกับแรงงานผู้หญิงที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ ดังนั้น ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆ เพื่อเป็นของขวัญเนื่องในวันสตรีสากล วันที่ 8 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 มี.ค.เนื่องในวันสตรีสากล กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จะร่วมกับองค์กรเครือข่ายแรงงานหญิง จากสหภาพแรงงานเครือข่าย ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ และแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ จัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเดินรณรงค์เริ่มจากองค์การสหประชาชาติไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอประเด็นแก้ปัญหาผลกระทบต่อชีวิตของกลุ่มแรงงานหญิง โดยมีข้อเสนอทั้งหมด 3 เรื่อง คือ 1.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายให้มีพื้นที่เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ 2.มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน 3.มีมาตรการและแนวทางในการช่วยเหลือแรงงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น