เชียงราย - ชาวสวนยางพาราหลายพื้นที่ของเมืองพ่อขุนฯ หมดแรง หลังคอยประคบประหงม ลงทุนลงแรงมาหลายปี จนบางสวนเพิ่งกรีดน้ำยางขายได้ 2 ปี เจอพายุฤดูร้อนซัดหักโค่นเกือบยกสวน ทำขาดทุนย่อยยับ วอนรัฐช่วยเหลือเหมือนพืชเกษตรชนิดอื่นด้วย
วันนี้ (16 มี.ค.) เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในแต่ละพื้นที่ และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.เชียงราย ยังคงสำรวจและรวบรวมข้อมูลความเสียหายอันเกิดจากพายุฤดูร้อนพัดผ่าน เชียงราย อย่างหนักตั้งแต่วันที่ 12-14 มี.ค.ที่ผ่านมา และพึ่งจะไม่มีฝนตกและพายุลมพัดแรงในวันที่ 15 มี.ค.ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนประชาชนใน 7 อำเภอ รวมกว่า 2,600 หลังคาเรือน
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ยังพบความเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรโดยเฉพาะสวนยางพาราอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน ซึ่งมีการปลูกยางพารากันเป็นบริเวณกว้างและพบว่าพื้นที่บางสวนถูกพายุฤดูร้อนพัดจนต้นยางหักโค่นเสียหาย
โดยที่สวนยางพาราของ นายเมธี ศรีจันทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านทับกุมารทอง ม.8 ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และประธานกลุ่มออมทรัพย์หมู่บ้านเดียวกัน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
ซึ่ง นายเมธี ปลูกยางพาราเอาไว้ใกล้บ้านของตนเองเลขที่ 10 บ้านทับกุมารทอง และบริเวณโดยรอบก็มีการปลูกยางพาราเช่นกัน แต่มีอายุประมาณ 4-5 ปี แต่ที่สวนของนายเมธี เป็นต้นยางพาราอายุประมาณ 9 ปี จึงมีลำต้นใหญ่และกรีดน้ำยางมาได้กว่า 2 ปีแล้ว พบว่า ได้ถูกพายุฤดูร้อนพัดลำต้นจนหักโค่นเกือบยกสวน เหลือที่ยืนต้นอยู่โดยไม่หักโค่นเพียงเล็กน้อย ขณะที่ต้นที่หักโค่นมีทั้งที่ลำต้นหักแยกออกจากต้น และที่โน้มเอียงโดยเนื้อไม้ฉีกขาดจนใช้การไม่ได้ด้วย ขณะที่สวนยางพาราโดยรอบที่มีอายุน้อยก็เสียหายหักโค่นไปตามๆ กัน
นายเมธี กล่าวว่า พื้นที่ ต.ท่าข้าวเปลือก มีการปลูกยางพารารวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ไร่ มีทั้งรายใหญ่ๆ และเกษตรกรที่เป็นรายเล็กรายน้อย สำหรับตนและเพื่อนบ้านถือเป็นรายย่อยโดยตนปลูกเอาไว้ประมาณ 6 ไร่ ที่ผ่านมา รัฐบาลในอดีตได้ส่งเสริมการปลูก และพยายามประคบประหงม ต้นยางมาได้นานร่วม 9 ปี และกรีดน้ำยางจำหน่ายมาได้นานประมาณ 2 ปีแล้ว แต่ยังมีหนี้สินและค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกมากมายก็อาศัยน้ำยางจากสวนเลี้ยงชีพ
แต่ปรากฏว่า พายุฤดูร้อนเมื่อวันที่ 14 มี.ค.55 ที่ผ่านมา ได้ทำให้ต้นยางในสวนของตนหักโค่นลงเกือบหมดหรือราวๆ 80% ของทั้งสวน ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะได้ลงทุนลงแรงไปมาก และต่อไปนี้คงมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าคือบ้านเรือนที่เสียหาย และยังไม่มีเงินไปซ่อมแซมด้วย
นายเมธี และเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน กล่าวว่า เนื่องจากสวนยางพารามีทั้งที่เข้าไปอยู่ใน สกย.และนอก สกย.หรือปลูกเอง โดยผู้ที่อยู่ใน สกย.จะได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ ตั้งแต่ปลูกจนขาย แต่ไม่ได้ระบุถึงการช่วยเหลือชดเชยกรณีเกิดภัยพิบัติใดๆ และยิ่งผู้ที่อยู่นอกโครงการยิ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือ ต้องแจ้งไปยัง ปภ.หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด
ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไร จึงอยากให้รัฐให้การช่วยเหลือเหมือนพืชชนิดอื่นๆ ที่รัฐบาลช่วย เช่น ข้าว ฯลฯ เพราะในอดีตที่ผ่านรัฐบาลสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกยางพาราในภาคเหนือมาโดยตลอดจนเกิดโครงการต่างๆ มากมาย ดังนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น จึงน่าจะมีสิ่งการันตีความมั่นคงให้กับเกษตรกรด้วย