ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เครือข่ายพลเมือง “ขอนแก่นสามัคคี” ออกแถลงการณ์ค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย้ำไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ต้องแก้ไข ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ สนองตัณหาเพื่อไทยเพื่อจะนำ นช.ทักษิณกลับประเทศ ซ้ำการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ละเมิดมาตรา 136 (16) และมาตรา 291 ลั่นค้านถึงที่สุดทุกช่องทาง
เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น.วันนี้(2 มี.ค.)ที่ห้องประชุมศิษย์เก่าคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เครือข่ายพลเมือง “ขอนแก่นสามัคคี”คัดค้านล้มล้างรัฐธรรมนูญ 50 ได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเมินข้อดี ข้อเสีย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยกุมอำนาจอยู่ พร้อมกับออกแถลงการณ์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นที่ไม่มีความชอบธรรม
นายปิติชา ทุมเทียง ประธานเครือข่ายพลเมือง “ขอนแก่นสามัคคี”ได้อ่านแถลงการณ์ว่าจากการที่คณะรัฐมนตรีได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 23-24 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น จะนำไปสู่การคัดเลือกและเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รวม 99 คน ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความเป็นไปได้อย่างสูงในการที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อันถือว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (16) และมาตรา 291 แต่อย่างใด
ทั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลดำเนินการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอันอาจมิชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มิได้ปรากฏว่า พบเหตุที่รัฐบาลมีอุปสรรคทางการปฏิบัติ หรือบริหารราชการ ทำให้จำเป็นต้องแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติหนึ่งใดเลยทั้งสิ้น ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มิได้กระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนดีอยู่แล้ว การกระทำของคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ
อีกทั้งยังมีบุคคล กลุ่มบุคคลที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ได้ให้ความเห็นว่า จะเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และพระราชอำนาจ รวมทั้งอาจจะให้มีการลดบทบาทหรือยกเลิกศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ และหรืออาจจะทำให้อำนาจตุลาการ อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายบริหาร ซึ่งทำให้การถ่วงดุลอำนาจหมดสิ้นไป คนไทยจึงอาจเสียประโยชน์ในหลายๆด้าน อาจมีการทุจริตโกงกินของนักการเมืองกันอย่างมโหฬาร เพราะการตรวจสอบถ่วงดุลย์มีปัญหาและอ่อนแอจากผลของการแก้รัฐธรรมนูญ
“ในนามของกลุ่มขอนแก่นสามัคคี จึงขอประกาศร่วมกันคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวของรัฐบาล และจะทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดไปตราบชีวิตจะหาไม่”นายปิติชากล่าวย้ำ
นพ.ชวลิต ไพโรจน์กุล อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ มข. ระบุว่ากระบวนการโหวตของสภาฯเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 23-24 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทางเครือข่ายขอนแก่นสามัคคีเองพร้อมจะร่วมรณรงค์ล่าชื่อประชาชนสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อหลากสีเพื่อยื่นถอดถอนบรรดา ส.ส.และ ส.ว.ที่ลงมติรับรองการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภา การโหวตรับรองแก้รัฐธรรมนูญในสภาเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 291 ที่ให้อำนาจสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้วทั้ง 308 มาตรา
แต่สมาชิกรัฐสภากลับจะโอนอำนาจดังกล่าวไปให้ ส.ส.ร.ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดและบางส่วนจะมาจากการแต่งตั้ง อย่างไรก็ตามหากการคัดค้านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภาไม่สำเร็จ ภาคประชาชนก็คงต้องเคลื่อนไหวกดดันทุกช่องทางเพื่อหยุดยั้งการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบครั้งนี้ เพราะถือว่ามีเจตนาล้มมาตรา 291
ด้าน ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาชุมชน คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า การพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เชื่อว่ามีเป้าหมายสูงสุดคือการเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมามีอำนาจและลบล้างความผิดต่างๆ อย่างสง่างาม โดยออกบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มารองรับ
ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นไปตามแผนที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงกับประชาชนที่สนับสนุนไว้ว่า จะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเมืองไทย โดยนำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นข้ออ้าง ซึ่งจะต้องผ่านกลไกการทำงานหลายขั้นตอน ทั้งการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนจากทั่วประเทศ การใช้เสียงข้างมากในสภาสนับสนุน เพื่อเป็นเหตุเป็นผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง
“สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเลือกตั้งจากตัวแทนภาคประชาชนทั่วประเทศนั้น จะเชื่อใจได้อีกหรือว่าเป็นตัวแทนจากประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพจริง เพราะกระบวนการเลือกตั้งหนีไม่พ้นการจัดตั้งจากกลุ่มนักการการเมืองขั้วที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมืออยู่แล้ว”ดร.สมพันธ์กล่าว
ดร.สมพันธ์ กล่าวถึงประเด็น การยกเลิกหรือลดบทบาทศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจตุลาการนั้น เป็นประเด็นรองที่รัฐบาล หยิบยกขึ้นมาให้สังคมโดยรวมเกิดความสับสน หันมาสนใจการยกเลิกองค์กรอิสระ แต่ประเด็นหลักที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อดึงพ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีอำนาจเท่านั้น เป็นเกมการเมืองที่ประชาชนต้องรู้เท่าทัน อย่าหลงไปตามกระแส
อีกประเด็นที่ต้องจับตามอง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยครั้งนี้จะมีการแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจหรือไม่ เนื่องจาก กรอบเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ที่เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งอาจเป็นการสร้างกระแสและเอื้ออำนวยต่อกัน
แต่เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ออกมาคัดค้าน และเป็นประเด็นสร้างความแตกแยกเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง