กาญจนบุรี - ชาวลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี 120 รายเฮ หลังร่วมยื่นฟ้อง “กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน” รวม 6 คดี เพื่อขอให้ศาลยกเลิกการออกหนังสือ (น.ส.ล.) และออกพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2481 ทับที่ชาวบ้าน เบื้องต้นศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้ไกล่เกลี่ยจนหน่วยงานภาครัฐยอมให้ชาวบ้านอยู่ในที่ดินเดิมได้ต่อไป
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (1 มี.ค.) ชาวตำบลลาดหญ้า หมู่ที่ 2,3,6 อ.เมือง จ.กาญจนบุรีจำนวน 120 ราย พร้อมด้วย นางนงลักษณ์ บุญส่งสมชัยดี กำนันตำบลลาดหญ้า นายกิตติ สุวรรณฉิม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 และ นายธีรศักดิ์ พิศูจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ลาดหญ้า ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อฟังคำตัดสินในกรณีที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ได้ทำการไกล่เกลี่ยกรณีชาวบ้านจำนวน 120 คนที่ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็น น.ส.3 ก.และใบสำคัญแสดงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ได้ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 6 คดี (คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 493, 505, 506, 510, 687, 1058/2553) เพื่อขอให้ศาลยกเลิกการออหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) และขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังกระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ และกรมที่ดิน ให้ออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดแก่ประชาชนผู้ฟ้องร้องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ครั้งนี้มี นายสันติชัย จีระพัฒน์ ทนายความของชาวบ้าน ร่วมเดินทางไปรับฟังด้วย
นายสันติชัย จีระพัฒน์ ทนายความ เปิดเผยภายหลังว่า ในระหว่างการดำเนินคดีโจทก์และจำเลยทั้งหมดสามารถตกลงกันได้ด้วยดี โดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาล มีความว่า
ข้อ 1.จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะดำเนินการพิสูจน์สิทธิที่ดินพิพาทตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ พ.ศ.2545 ทั้งนี้ โจทก์ทั้งหมดตกลงที่จะให้ความร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ด้วยการดำเนินการดังกล่าวทุกประการ
ข้อ 2.ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งหมด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ทั้งหมด อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาทต่อไปโดยจะไม่รบกวนการครอบครอง และโจทก์ทั้งหมดจะต้องไม่แผ้วถางหรือปรับสภาพพื้นที่ในที่ดินพิพาทเพิ่มขึ้นและจะต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในที่ดิน
สำหรับผลการพิสูจน์สิทธิในที่ดินนั้นถ้าเป็นที่ยุติเด็ดขาดว่าโจทก์คนใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐตามพระราชกฤษฎีกาฯพ.ศ.2481 แล้ว จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าที่ดินพิพาทมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โจทก์คนดังกล่าวสามารถนำที่ดินไปออกหนังสำคัญฯ สำหรับที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินได้โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการออกเอกสารสิทธิ
แต่ถ้าผลพิสูจน์สิทธิ์ปรากฏว่าโจทก์คนใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังการหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481 โจทก์คนดังกล่าวยินยอมรับผลการพิสูจน์สิทธิที่ชอบด้วยกฎหมายและยินยอมที่จะเช่าที่ดินพิพาทตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ทุกประการ หากโจทก์ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังการหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481 ไม่ดำเนินการขอเช่าภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิสูจน์สิทธิในที่ดินจากทางราชการ โจทก์คนดังกล่าวยินยอมให้จำเลยที่ 2 บังคับคดีขับไล่โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้ทันที
ข้อ 3.ในกรณีที่โจทก์ที่ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินภายหลังการหวงห้ามเป็นที่ดินของรัฐตามพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2481ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์นั้นสามารถโอนสิทธิการเช่าภายใต้วัตถุประสงค์ของสัญญาเช่าให้แก่บุคคลอื่นได้
ข้อ 4.กรณีที่สัญญาเช่าระงับเพราะเหตุที่ผู้เช่าตายหากทายาทของผู้เช่าประสงค์จะขอเช่าแทนต่อไปตามสัญญาเช่าเดิมทายาทจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่มีผลบังคับในขณะนั้น
ซึ่งตามข้อตกลงดังกล่าวชาวบ้านมีความพึงพอใจและพร้อมปฏิบัติตาม และในวันนี้ได้มาฟังคำไกล่เกลี่ยแล้วทำสัญญาตามข้อตกลงดังกล่าวที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบใหม่สำหรับกรณีชาวบ้านที่บุกรุกที่ดินของรัฐเพื่อรอการพิสูจน์สิทธิ จึงมารอทำสัญญาดังกล่าวกันในวันนี้ที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี
ด้าน นางนงลักษณ์ บุญส่งสมชัยดี กำนันตำบลลาดหญ้า กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 120 รายได้ยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยังศาลยุติธรรม มานานหลายปี ซึ่งในที่สุดปัญหาก็ได้ยุติลงด้วยดี โดยชาวบ้านได้รับความช่วยเหลือจากท่านทวีศักดิ์ ชัยชันยาภัทร์ ผู้พิพากษา ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาที่ดินที่ชาวบ้านทั้งหมดมีข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับที่ดินทำกินในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 6 จนในที่สุดสามารถยอมความกันได้ด้วยดี
แต่อย่างไรก็ตาม ตนและชาวบ้านมองว่า พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2481 หากรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐสามารถยกเลิกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ เชื่อว่าชาวกาญจนบุรีที่มีที่ดินทำกิน ก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวคงจะมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง