บุรีรัมย์ - นายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคอีสาน ร้องรัฐบาลหยุดแทรกแซงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ควรปล่อยแข่งขันตามกลไกตลาด เชื่อผู้บริโภค-เกษตรกรอยู่ได้ เผย เกษตรกรเลี้ยงหมูเดือดร้อนหนัก หลังราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำเหลือ กก.ละ 50-55 บาท ขาดทุนเฉลี่ยตัวละ 800-1,200 บาท เหตุปัจจัยการผลิตพุ่งสูง เจ๊งปิดฟาร์มแล้วรายหลาย
วันนี้ (22 ก.พ.) นายชูศักดิ์ รัตนวนิชย์โรจน์ กรรมการบริหาร บริษัท อาร์เอ็มซี ฟาร์ม จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรดีเด่นแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 50-55 บาท ซึ่งแตกต่างจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปีที่ผ่านมา ที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละกว่า 80 บาท ทำให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ต้องประสบปัญหาขาดทุนเฉลี่ยตัวละ 800-1,200 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องแบกรับภาระปัจจัยการผลิต ทั้งวัตถุดิบ เช่น รำจากเดิมที่เคยซื้อเพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท ปัจจุบันพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 9-10 บาท, ปลายข้าวจากเดิมซื้อกิโลกรัมละ 7-8 บาท ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 14-15 บาท อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระค่าจ้างแรงงาน และค่าขนส่ง ที่สูงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ไม่อยู่ในจุดคุ้มทุน
นอกจากนั้น ยังต้องเสี่ยงกับสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจส่งผลให้หมูโตช้า และเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดอีกด้วย ซึ่งขณะนี้บางฟาร์มมีเปอร์เซ็นต์สูญเสียเฉลี่ยรายละ 15-25 เปอร์เซ็นต์
นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาหมูของรัฐในขณะนี้ เพียงเพื่อต้องการช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้บริโภคเนื้อหมูในราคาต่ำ แต่กลับมองข้ามผลกระทบและการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล หยุดเข้ามาแทรกแซงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม ควรปล่อยให้เกิดการแข่งขันเป็นไปตามกลไกของตลาด เชื่อว่า กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคจะสามารถอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงหมูภาคอีสานอยู่กว่า 350 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาหมูตกต่ำดังกล่าว
“เห็นด้วยที่รัฐบาลกำหนดราคาแนะนำเนื้อหมูชำแหละให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 105-115 บาท แต่ต้องมองถึงผลกระทบและเข้ามาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูด้วย เพราะปัจจุบันมีต้นทุนในการเลี้ยงหมูอยู่ที่กิโลกรัมละ 61-63 บาท หากจะให้เกษตรกรผู้เลี้ยงอยู่ได้หมูเป็นหน้าฟาร์มจะต้องอยู่ที่กิโลกรัมละ 72 บาท ทั้งนี้เชื่อว่าหากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยเหลือ หรือไม่หยุดแทรกแซงราคาหมู ผู้เลี้ยงหมูก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำ ได้ทยอยปิดฟาร์มเลิกเลี้ยงไปแล้วหลายราย” นายชูศักดิ์ กล่าว
“สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภาวะราคาหมูตกต่ำนั้น เป็นผลพ่วงมาจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกการส่งออกหมูไปยังต่างประเทศแถบอินโดจีน ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งที่ทางสมาคมได้ช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้มีการส่งออก เพราะการที่จะเจรจาให้มีการส่งออกได้นั้นต้องใช้เวลานาน 5-8 ปี แต่รัฐบาลกลับยกเลิกภายในเวลาเพียง 1-2 ปี ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลในระยะเวลาสั้นๆ กลับจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและเกษตรกรในระยะยาวได้” นายชูศักดิ์ กล่าว