ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ปปง.-กองปราบขึ้นเหนือเชิญชาวบ้านดอยสะเก็ดนับร้อยให้ปากคำ หลังพบมีชื่อเปิดบัญชีให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชาวบ้านเผยโดนหลอกให้เปิดบัญชีรับเงินช่วยน้ำท่วม-รับเงินคนเสื้อแดง แถมคนติดต่อเป็นคนในพื้นที่เลยวางใจ หลังเปิดบัญชีเสร็จส่งบัญชี-บัตรเอทีเอ็มให้นายหน้าก่อนเก็บเงินส่วนที่เหลือเข้ากระเป๋า ด้าน ปปง.ระบุ อีสานเคยโดนมาแล้วส่วนรอบนี้หันมาหลอกทางเหนือบ้าง
วันนี้ (20 ก.พ.) ชาวบ้านจำนวนกว่า 100 คนซึ่งถูกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกองบังคับการปราบปราม แจ้งคำสั่งอายัดทรัพย์สินในข้อหาเปิดบัญชีธนาคาร และใช้โทรศัพท์หลอกประชาชนเพื่อให้ได้ซึ่งทรัพย์สิน ได้เดินทางมายังสถานีตำรวจภูธรดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การเชิญประชาชนในท้องที่อำเภอดอยสะเก็ดจำนวนมากเข้าให้ปากคำของสำนักงาน ปปง.และกองบังคับการปราบปรามในครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีการติดตามจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ออกหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินไปยังบัญชีของคนร้าย โดยอ้างว่าบัญชีของผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน ซึ่งหลังจากสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาในแก๊งดังกล่าว
รวมทั้งขยายผลจนสามารถจับกุม นายไพโรจน์ กิตติโรจนเสถียร ซึ่งเป็นผู้รวบรวมเงินที่ได้จากการหลวกลวงประชาชน และส่งต่อให้กับคนร้ายร่วมขบวนการในต่างประเทศแล้วนั้น จากการสืบสวนยังพบด้วยว่า บัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็มที่ผู้ต้องหานำมาใช้ในการรับโอนเงินจากผู้เสียหายนั้น ส่วนใหญ่เป็นบัญชีที่เปิดในพื้นที่ภาคเหนือ
โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีชาวบ้านที่ได้ทำการเปิดบัญชีให้กับแก๊งดังกล่าวจำนวน 110 บัญชี ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 90 รายอยู่ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด นอกจากนี้ ยังมีบัญชีที่เปิดในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง ลำพูน และพะเยา อีก 28 บัญชี สำนักงาน ปปง.และกองบังคับการปราบปรามจึงได้ออกหมายเรียกประชาชนที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชี เพื่อเข้าให้การกับทางเจ้าหน้าที่พร้อมกันในวันนี้
ทั้งนี้ คณะของสำนักงาน ปปง.ซึ่งนำโดย ร.ต.อ.หญิง สุวนีย์ แสวงผล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและวิเคราะห์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมด้วยพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามได้ทำการสอบปากคำกับชาวบ้านเพื่อเป็นหลักฐาน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การว่าถูกหลอกให้เปิดบัญชี โดยได้รับการว่าจ้างรายละ 2,000 บาท ในการไปดำเนินการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารกรุงเทพ เสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเงินฝาก 500 บาท และค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มอีก 300 บาท ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,200 บาท จะตกเป็นของชาวบ้าน
ชาวบ้านที่ถูกหลอกให้ใช้ชื่อในการเปิดบัญชีให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังระบุด้วยว่า สาเหตุที่ยินยอมให้นำชื่อไปใช้ในการเปิดบัญชีนั้น เนื่องจากผู้ที่มาติดต่ออ้างว่าการเปิดบัญชีดังกล่าวเป็นไปเพื่อรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างว่า การเปิดบัญชีดังกล่าวเป็นไปเพื่อรับเงินจากกลุ่มคนเสื้อแดงอีกด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ที่มาว่าจ้างให้ดำเนินการนั้นก็เป็นญาติของคนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไว้วางใจและยินยอมไปเปิดบัญชีให้ โดยหลังจากเปิดบัญชีเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม พร้อมด้วยรหัสให้กับ นางอุษา และ นายวันชัย ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าได้รับการว่าจ้างจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีกทอดหนึ่ง
ร.ต.อ.หญิง สุวนีย์ กล่าวว่า การสอบปากคำชาวบ้านในครั้งนี้จะมุ่งไปในประเด็นที่ว่าเจ้าของบัญชีมีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือว่าเป็นเหยื่อที่ถูกหลอกลวง ซึ่งหากเป็นกรณีหลังก็จะมีการกันตัวไว้เป็นพยานต่อไป ทั้งนี้ พบว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่ภาคอีสาน แต่ในครั้งนี้เป็นชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการดังกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและวิเคราะห์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวต่อไปว่า ขอแจ้งเตือนชาวบ้านที่อาจจะหลงเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า ถ้าหากไม่แน่ใจว่าการเปิดบัญชีนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ห้ามเปิดบัญชีเพื่อให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะมีความผิดและจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย