กองปราบฯ ร่วมกับ ปปง.ขยายผลตรวจค้นห้องเช่าในอาคารย่านสีสม ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่ไม่พบอุปกรณ์ที่ใช้ทำผิด พร้อมเข้าตรวจค้นอีก 3 จุด เพื่อรวบรวมหลักฐานเอาผิดลูกชายเจ้าของห้องเช่า ขณะที่ ปปง. พบเส้นทางการเงินเป็นคนรวบรวมเงินที่หลอกเหยื่อให้โอนเข้ามาก่อนส่งไปยังจีนและไต้หวัน พบบัญชีเงินฝากมีเงินหมุนเวียนจำนวนมาก โดยศาลออกหมายจับลูกชายเจ้าของห้องเช่าแล้ว และเตรียมขอหมายจับผู้ร่วมขบวนการต่อไป
วันนี้(2 ก.พ.)เมื่อเวลา 16.30 น.ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป.พร้อมคณะ แถลงข่าวภายหลังนำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมาย รวม 4 จุด ซึ่งเป็นการขยายผลสืบสวนติดตามเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่แอบอ้าง ปปง.โทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีของอดีตข้าราชการสูงวัย ที่หลงเชื่อโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารสูญเงินไปเกือบ 30 ล้านบาท
สำหรับจุดที่เข้าตรวจค้น 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริษัท เนเจอรัล เทส อินโนเวชั่น จำกัด เลขที่ 427/48-49 อาคารไดมอนด์ทาวเวอร์ ชั้น 4 ถนนสีลม ซอย 7 แขวงสีลม เขตบางรัก กทม.ของนายไพโรจน์ กิตติโรจนเสถียร อายุ 34 ปี กรรมการบริษัทฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 143/2555 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ซึ่งตามแนวทางการสืบสวนสอบสวนพบว่า นายไพโรจน์ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหารายสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่พบตัว นายทวีศักดิ์ กิตติโรจนเสถียร อายุ 75 ปี บิดาของนายไพโรจน์ จึงเชิญตัวมาสอบปากคำ
2.บริษัท เลมาค ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด เลขที่ 262 ซอยประสาน ถนนเพชรเกษม แขวงบางแคเหนือ เขตบางแค กทม.ของนางชิวชิน กิตติโรจนเสถียร 3.บ้านพักเลขที่ 481/184 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม.และ 4.บ้านเลขที่ 1041 ซอยหมู่บ้านสินธร แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.ของนางจันทนา โลเกศเสถียร ภรรยาของนายดิลกพัฒน์ รายเรียงวนาขจี ผู้ต้องหาร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ถูกจับกุมไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ 4 ชุด สมุดบันทึก บัญชีเงินฝากธนาคาร 8 เล่ม เช็คธนาคาร เอกสารอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หนังสืออนุญาตทำงาน นามบัตร และเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งไว้ตรวจสอบ
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ปปง.และบก.ป.ภายหลังที่เกิดกรณีของอดีตข้าราชการสูงอายุหลงเชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่แอบอ้างชื่อตน หลอกลวงเหยื่อให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร จนสูญเงินไปเกือบ 30 ล้านบาท ซึ่งทาง ปปง.ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและอายัดบัญชีเงินฝาก 85 บัญชีที่มีการโอนเงินไป ส่วนทางตำรวจ บก.ป.ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยวสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาไว้ได้ 5 ราย ก่อนหน้านี้และขยายผลจนพบว่า เส้นทางการโอนเงินต่างๆ นั้น มีนายไพโรจน์ เป็นตัวการใหญ่ที่จะมีบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีกลางและเป็นผู้ถอนเงินก้อนใหญ่ก่อนจะโอนไปยังประเทศจีน และไต้หวัน
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของบัญชีธนาคารของนายไพโรจน์ นั้น เจ้าหน้าที่พบว่ามีกระแสเงินหลายร้อยล้านบาท ซึ่งมีการทยอยถอนเงินออกมาตลอดเวลา นอกจากนี้ยังตรวจสอบและประสานธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อายัดบัญชีเงินฝากธนาคารเพิ่มเติมได้อีก 96 บัญชี ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินไปยังต่างประเทศแล้วเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 170 ล้านบาท โดยกรณีที่เกิดขึ้นตนเชื่อว่ายังมีผู้เสียหายอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้แจ้งความดำเนินคดี จึงอยากให้เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม ส่วนเส้นทางการโอนเงินของคนร้ายเจ้าหน้าที่ยังพบวิธีโพยก๊วนซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายอีกด้วย
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า หลังจากที่ตนได้ประชุมร่วมกับผู้แทนธนาคารพาณิชย์ต่างๆ แล้วได้ขอความร่วมมือให้ทางธนาคารตรวจสอบบัญชีที่มีความเคลื่อนไหวทางการเงินผิดปกติ มีการโอนเงินเข้าออกจำนวนมากๆ และปิดบัญชีไป โดยขอให้มีการอายัดการทำธุรกรรมไว้ก่อน พร้อมกับเรียกเจ้าของบัญชีมาให้ข้อมูล เพื่อเป็นอีกช่องทางในการตัดวงจรของการกระทำความผิดและช่วยระงับความเสียหายก่อนจะมีการโอนเงินออกจากบัญชีไป
ด้าน พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ลักษณะการกระทำความผิดของคนร้ายจะคล้ายคลึงกันมีการแอบอ้างผู้หลักผู้ใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ สร้างความน่าเชื่อถือแต่ที่สุดก็จะลวงให้เหยื่อไปโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเมื่อได้เงินแล้วก็จะเบิกออกและปิดบัญชีไปในทันที โดยในส่วนของนายทวีศักดิ์ เจ้าหน้าที่พบว่ามีโทรศัพท์มือถือซึ่งนายไพโรจน์ มอบไว้ให้ 1 เครื่อง และในแต่ละวันนายไพโรจน์ จะคอยโทรศัพท์มาสอบถามว่ามีข้อความ หรือ SMS แจ้งการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารมาบ้างหรือไม่ มียอดเงินจำนวนเท่าใด ซึ่งจุดนี้เจ้าหน้าที่จะเร่งขยายผลตรวจสอบต่อไปเพราะเป็นการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่มีการเปิดใหม่ไว้อีก
ผบก.ป.กล่าวด้วยว่า นอกจากในรายของนายไพโรจน์ แล้วก็น่าจะมีผู้ที่กระทำความผิดซึ่งเป็นตัวการระดับเดียวกับนายไพโรจน์ อีกหลายรายซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เร่งสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลงข่าว โดย พล.ต.ต.สุพิศาล ได้นำโทรศัพท์มือถือของนายทวีศักดิ์ มาโชว์ให้สื่อมวลชนดูนั้นก็ยังคงมีข้อความส่งเข้ามาซึ่งมีการแจ้งการโอนเงินเข้ามาตลอด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องสอบถามกับนายทวีศักดิ์ ว่าในแต่ละวันมีข้อความเข้ามามากแค่ไหน และนายไพโรจน์ ได้ติดต่อมาหากี่ครั้ง พร้อมกับขอความร่วมมือนายทวีศักดิ์ ให้ช่วยติดต่อนายไพโรจน์ ให้เข้ามอบตัว โดยทาง พ.ต.อ.สีหนาท เผยว่าพร้อมจะให้ความยุติธรรมทุกอย่าง แเมื่อมีการอ้างถึงชื่อตนก็ขอให้มาต่อสู้คดีกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับประวัตินายไพโรจน์ เคยถูกจับกุมตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในความผิดข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน โดยมีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกันมาแล้วก่อนหน้านี้โดยอยู่ระหว่างการดำเนินคดี แต่นายไพโรจน์ ได้ประกันตัวออกมา และกลับมาก่อเหตุอีกครั้งดังกล่าว