xs
xsm
sm
md
lg

หมอกควันเชียงรายทุเลา-ผู้ว่าฯขู่เอาผิดผู้นำท้องถิ่นหากละเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ปัญหาหมอกควันเหนือฟ้าเมืองพ่อขุนฯ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เผย ปีนี้พบฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินมาตรฐานแค่วันเดียว และลดลงแล้ว แต่สถิติไฟป่ายังโผล่ซ้ำซาก ผู้ว่าฯขู่เชือดผู้นำท้องถิ่น หากปล่อยปละละเลย

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลาง จ.เชียงราย นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า จ.เชียงราย โดยมีตัวแทนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
 

ในที่ประชุม ได้มีการรายงานว่า สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549-2550 เป็นต้นมา สำหรับปีนี้ พบค่าของอากาศเกินมาตรฐานแล้ว 1 วัน คือ วันที่ 10 ก.พ.55 ซึ่งพบหมอกควันที่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ที่ อ.แม่สาย วัดได้ 122.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากนั้นก็ลงสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับอำเภอต่างๆ ที่ไม่พบปัญหามากเหมือนปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถิติการเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญพบว่า เกิดขึ้นในเขตป่าอนุรักษ์เมื่อปี 54 จำนวน 107 ครั้ง ป่าสงวนแห่งชาติ 340 ครั้ง และพื้นที่ทางการเกษตร 167 ครั้ง ส่วนปี 2555 จนถึงวันที่ 13 ก.พ.55 พบว่า เกิดขึ้นรวมทั้งหมดแล้ว 150 ครั้ง แยกเป็นเกิดในป่าอนุรักษ์ 11 ครั้ง ป่าสงวนแห่งชาติ 59 ครั้ง และพื้นที่ทางการเกษตร 80 ครั้ง แต่ปัญหาคือไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบเผาได้ เนื่องจากมักจะหายตัวไปหลังเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า พื้นที่ที่เกิดปัญหาซ้ำซากมากที่สุด คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ ต.วาวี อ.แม่สรวย ,พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ ต.ปอ อ.เวียงแก่น และพื้นที่ทางการเกษตร คือ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน และมีอีกไม่ต่ำกว่า 24 แห่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นซ้ำซากอีก

นายธานินทร์ กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันและไฟป่าถือว่าสาธารณชนให้ความสนใจอย่างมาก รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ถือว่า ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ดังนั้นจึงให้แต่ละหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ประสานความร่วมมือป้องกัน กันอย่างเต็มที่ในช่วงตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.นี้ เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน ที่จะทำให้ปัญหานี้หมดไป โดยให้เร่งระงับเหตุที่เกิดขึ้นโดยเร็วก่อนที่จะเกิดการลุกลามจนทำให้เกิดความเสียหายด้านทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตขึ้นไปกว่าเดิมอีก

ด้านมาตรการการป้องปรามหรือดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น เนื่องจากไม่สามารถจับกุมใครมาดำเนินคดีได้ จึงจะใช้มาตรการในการจัดชุดป้องปรามออกลาดตระเวนตามจุดสำคัญไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน เพราะปีนี้ถือว่าป่าไม้แห้งแล้งมาก จึงมีความเสี่ยงสูง โดยหากว่า ท้องที่ใดเกิดเหตุที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าหรือพื้นที่ทางการเกษตร หรือแม้แต่เกิดไฟป่าขึ้นมามาก ก็จะเพ่งเล็งไปยังผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ดูแลท้องที่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น