xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท-ซีพีเอฟหนุนเลี้ยงเป็ดไข่ในโรงเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการออนไลน์ -มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท จับมือซีพีเอฟ ขยายโครงการเลี้ยงไก่ในโรงเรียนต่อเนื่อง เตรียมต่อยอดเลี้ยงเป็ดไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนถิ่นทุรกันดาร

นายสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว 400 แห่งทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มภาวะโภชนาการที่ดีให้เยาวชนกว่า 80,000 คน โดยยังคงส่งเสริมโรงเรียนเพิ่มอีกปีละประมาณ 50 แห่ง คาดว่าจะสามารถขยายโครงการฯ ให้ครบ 500 แห่งภายในปี 2556 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

พร้อมต่อยอดด้วย "โครงการเลี้ยงเป็ดไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน" แก่โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่การคมนาคมไม่สะดวก เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับประทานโปรตีนคุณภาพดี เช่นเดียวกับเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ ตั้งเป้าขยายปีละ 10 โรงเรียน โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10 ปี

นายสุปรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการนำร่องการเลี้ยงเป็ด แก่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เพชรบุรี และโรงเรียนบ้านหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งโรงเรียนมูลมังหลวงปู่ชอบ ฐานสโม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จังหวัดนครปฐม ที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้เร่งดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมสำหรับดำเนินโครงการ ซึ่งจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีความพร้อมในการเลี้ยงเป็ดไข่ โดยใช้หลักการณ์ในการดำเนินการเช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ไข่ คือ เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การสนับสนุนพันธุ์เป็ดรุ่นแรก อาหารสัตว์ และการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวบาลของบริษัทตลอดระยะเวลาการเลี้ยงในแต่ละรุ่น

ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถสร้างผลผลิตไข่ไก่และไข่เป็ดในโรงเรียนได้สำเร็จ โดยนำผลผลิตส่วนหนึ่งมาประกอบเป็นอาหารกลางวัน และนำบางส่วนนำออกจำหน่ายแก่ชุมชน เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนในการดำเนินโครงการรุ่นต่อๆ ไปได้ด้วยตนเอง

“การเลี้ยงเป็ดไข่นับว่าเป็นกิจกรรมที่เริ่มต้นได้ง่าย วิธีการจัดการดูแลไม่ยุ่งยาก เหมาะสำหรับโรงเรียนที่พื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยงไก่ไข่ และยังสามารถใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นอาหารเสริมให้กับเป็ดไข่ได้ รวมทั้ง ไข่เป็ดยังเป็นที่นิยมในการนำไปแปรรูปเป็นไข่เค็ม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มเมนูอาหารโปรตีนที่หลากหลายอีกทางหนึ่ง และโครงการฯ นี้ยังเป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อชุมชน สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับท้องถิ่นได้จริง” นายสุปรี กล่าวและว่า

สำหรับโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ที่ได้ดำเนินโครงการตามโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ที่สนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการ อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) ซึ่งร่วมดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาถึง 12 ปี ตลอดจนสโมสรโรตารี และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น