ศูนย์ข่าวศรีราชา - การท่าเรือแห่งประเทศไทย รับดำเนินการตามแผนกิจกรรมตอบแทนสังคมสังคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง 7 ด้าน ด้านคณะอนุกรรมการเห็นชอบ พร้อมเตรียมเสนอบอร์ดการท่าเรือฯ เพื่ออนุมัติงบประมาณ
วันนี้(14 ก.พ.55) นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยและประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง เป็น ประธานการประชุมสรุปการจัดทำกิจกรรมตอบแทนสังคม หรือ CSR โดยทางท่าเรือฯ ได้จัดทำกิจกรรมตอบทนสังคมแบ่ง ออกเป็น 7 ด้าน
คือ 1 ด่านการสร้างอาชีพ รายได้ 2. ด้านการศึกษาของเยาวชน 3. ด้านวัฒนธรรม ประเพณี 4. ด้านคุณภาพชีวิต สุขภาพอนามัย ของชุมชน 5. ด้านศาสนา จิตใจ ความเชื่อของชุมชน 6. ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนท้องถิ่นทำประโยชน์ร่วมกัน 7. ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสนธิ เปิดเผยว่า อย่างไรก็ตาม ตามที่มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 ณ สำนักงานการท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีทั้งภาคราชการในจังหวัดชลบุรีและภาคประชาชนในเขตตำบลแหลมฉบัง บางละมุง ตะเคียนเตี้ยและนาเกลือ ได้เสนอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยแสงดความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม โดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากที่ผ่านมา ประชาชนได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินการของการท่าเรือค่อนข้างมาก ซึ่งการประชุมวันนั้นบรรยากาศเป็นไปด้วยดี โดยภาคประชาชนขอเสนอโครงการเร่งด่วน 2 โครงการ คือ
1.ให้มีการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฉบับประชาชน จัดทำโดยภาคประชาชน ทั้งในส่วนของเดิมและการพัฒนาศักยภาพท่าเรือในอนาคตด้วย
2.ขอให้การท่าเรือดูแลประชาชนที่เคยถูกเวนคืนให้โยกย้ายออกไป จากพื้นที่การท่าเรือในช่วงเวลาที่ทำการก่อสร้างท่าเรือ เฟส 1 และเฟส 2 โดยเฉพาะการจัดสรรพื้นที่เปล่า หมู่ 9 เป็นสวนสาธารณะและศาลาอเนกประสงค์ รวมทั้งพื้นที่บางส่วนเป็นที่พักอาศัย จากการเวนคืนครั้งแรก
นายสนธิ กล่าวว่า นอกจากนี้ ภาคประชาชนและที่ประชุมยังมีความเห็นให้จัดกิจกรรมตอบแทนสังคมเพิ่มเติม คือ 1.การพัฒนาศักยภาพของประชาชนโดยรอบการท่าเรือ โดยทำการฝึกอบรมประชาชนให้มีความสามารถทำงานที่ต้องใช้ทักษะในท่าเทียบเรือต่างๆได้ ทั้งนี้ทุกท่าเทียบเรือยินดีรับคนในพื้นที่ก่อน
2.ตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยเป็นอาคารอเนกประสงค์ให้ชุมชนมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น มีห้องประชุมสำหรับชุมชน ซึ่งมีอุปกรณ์ครบถ้วน สถานที่ฝึกอบรมอาชีพ ศูนย์การเรียนรู้ประมงพื้นบ้าน ศูนย์สุขภาพชุมชน สถานที่อบรมเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี สถานที่ออกกำลังกายของชุมชน เป็นต้น 3. พัฒนาเกาะนกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว/พัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นที่ท่องเที่ยว
4.มอบทุนการศึกษาให้เด็กทุกโรงเรียนเป็นต้น มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนและนำเข้ามาทำงานในท่าเรือ 5. ทำปะการังเทียม โดยประสานงานกับเครือข่ายชุมชนก่อนหรือให้ประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ
นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปแล้ว จะขอให้การท่าเรือเสนอกิจกรรมเพื่อสังคมแก่บอร์ดการท่าเรือ และดำเนินการโดยเร็วต่อไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพการท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต จะถูกพิจารณาในคณะอนุกรรมการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรีเป็นประธานต่อไป