ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถานการณ์หมอกควันไฟป่า จ.เชียงใหม่ เดือน ม.ค.คุณภาพอากาศปานกลาง-ยังใช้ได้ เผยตัวเลขคุณภาพอากาศชี้ไม่ใช่แค่ฝุ่นแต่ไอเสียรถมีส่วนด้วย ด้านจำนวนไฟป่า-Hotspot พบ อ.ฮอด ตัวเลขพุ่งเหตุชาวบ้านเผาป่าหาผักหวาน-เห็ดถอบ ประเมินหากเกิดลานีญาฝนตกเยอะสถานการณ์คงไม่รุนแรง แต่ยังหวั่นความกดอากาศปกคลุมนานทำอากาศปิด
นายประหยัด อนันต์ประดิษฐ์ หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าของ จ.เชียงใหม่ ช่วงระหว่างวันที่ 1-30 ม.ค.2555 ว่า จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในช่วงดังกล่าว พบค่าสูงสุดจากการตรวจวัดที่สถานีศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 9 ม.ค.โดยมีค่า PM10 หรือฝุ่นขนาดเล็กที่มีอนุภาคเล็กกว่า 10 ไมครอน อยู่ที่ 58.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศที่ 89 ส่วนค่าต่ำสุดพบจากการตรวจวัดที่สถานีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วันที่ 4 ม.ค.โดยมีค่า PM10 อยู่ที่ 26.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศที่ 46
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากมาตรฐานค่า PM10 ที่มีค่ามาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าดัชนีคุณภาพอากาศซึ่งไม่ควรเกิน 100 แล้ว ถือว่าคุณภาพอากาศโดยรวมของ จ.เชียงใหม่อยู่ในระดับปานกลาง
ส่วนสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีสถิติรับแจ้งเหตุและปฏิบัติการดับไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 1-29 ม.ค.รวมทั้งสิ้น 44 ครั้ง โดย ต.หางดง อ.ฮอด เป็นจุดที่มีสถิติการเกิดไฟป่ามากที่สุด รวม 18 ครั้ง มีพื้นที่ได้รับความเสียหายรวม 115 ไร่ ส่วนจำนวนการเกิด Hotspot ในช่วงเวลาเดียวกันมีจำนวนทั้งสิ้น 66 จุด โดย อ.ฮอดเป็นพื้นที่ที่เกิดจุด Hotspot มากที่สุด
นายประหยัด กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวมีสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ จากสถิติการตรวจวัดคุณภาพอากาศ พบว่า ตัวเลขค่า PM10 ไม่สูงมากนัก แต่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศกลับสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝุ่นละอองจากการเผาแต่เพียงอย่างเดียว แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นผลมาจากไอเสีย หรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงของยานพาหนะต่างๆ ด้วย
ขณะที่ในส่วนของสถานการณ์ไฟป่าและการเกิด Hotspot พบว่า พื้นที่ทางตอนใต้ของ จ.เชียงใหม่ มีสถิติเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ อ.ฮอด ซึ่งมีสถิติสูงสุด ไม่ใช่ อ.แม่แจ่ม หรืออมก๋อย ซึ่งติดอันดับต้นๆ ในหลายปีที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจและสอบถามประชาชนในพื้นที่พบว่า สาเหตุที่ยังมีการเผาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนเชื่อว่าจะทำให้ผักหวานงอกงามขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบด้วย
นอกจากนี้ ยังมีคนจากต่างถิ่น เช่น จาก จ.ลำพูน เข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวและทำการเผาป่า เนื่องจากเชื่อว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีผักหวานหรือเห็ดเป็นจำนวนมากในปีนี้ หลังจากปีที่ผ่านมาจำนวนผักหวานและเห็ดถอบมีไม่มากนัก
สำหรับการประเมินสถานการณ์ ความรุนแรงของปัญหาหมอกควันและไฟป่าในปีนี้ นายประหยัด กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของโลกและประเทศไทยในปีนี้ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่า หากในปีนี้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จะทำให้ประเทศไทยมีฤดูกาลครบทั้ง 3 ฤดู แต่ถ้าหากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดว่า มีความเป็นไปได้มากกว่า จะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกมากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งในด้านหนึ่งจะส่งผลให้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าไม่มีความรุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาเรื่องของความกดอากาศร่วมด้วย เพราะหากมีความกดอากาศแผ่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือเป็นเวลานานก็จะทำให้ฝุ่นละอองหรือหมอกควันต่างๆ ไปสะสมกันบนอากาศ โดยไม่สามารถระบายออกไปสู่จุดอื่นได้
ส่วนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหานั้น นายประหยัด ระบุว่า จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันและไฟป่า เป็นวาระของ จ.เชียงใหม่ โดยได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนให้ควบคุมการเผาในที่โล่ง รวมทั้งงดเว้นการเผาขยะ กิ่งไม้ใบไม้ ตอซังฟางข้าวและเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรอื่นๆ ซึ่งจนถึงขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ยังคงมีการควบคุมดูแลกันอยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ได้มีการเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มงวด เนื่องจากยังพบว่ามีการเผาเกิดขึ้นอยู่ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ผู้นำชุมชนจะต้องกระทำตนเป็นตัวอย่างโดยไม่เป็นผู้เผาเสียเอง และยังมีมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้าย หากการรณรงค์ หรือขอความร่วมมือไม่เป็นผล