พระนครศรีอยุธยา - ผู้ว่าฯ อยุธยาสั่ง จนท.สำนักศิลปากรที่ 3 เร่งสำรวจความเสียหายโบราณสถานทั้งจังหวัดด่วน หลังพบทรุดตัวและพังลงมาหลายแห่ง รวมถึงกำแพงวัดมหาธาตุ จากเหตน้ำท่วมปี 2554 ด้านชาวบ้านหวั่นจัดงานแสงสีแสงมรดกโลก 10-19 ก.พ.นี้ เป็นการซ้ำเติมจนโบราณสถานพังครืนลงมา
วันนี้ (31 ม.ค.55) นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้ตนสั่งการไปยังผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ให้เร่งสำรวจความเสียหายโบราณสถานทั้งจังหวัดทั้งหมดว่า มีจุดใดชำรุดและมีกี่พื้นที่เพื่อที่จะได้จัดทำเป็นภาพรวมของความเสียหาย เนื่องจากขณะนี้ทราบว่ามีการสำรวจ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ได้รับความเสียหาย โดยขอให้รายงานให้ทราบภายใน 3 วันเพราะจะได้เสนอให้ทางรัฐบาลทราบอีกทางหนึ่ง
"แนวโบราณสถานหลายแห่งทรุดตัวจากปัญหาน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาจริง ซึ่งบางจุดได้มีการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวและห้ามเข้าไปใกล้แล้ว เพราะเกรงว่าอาจจะมีการพังลงมา และยังกังวลว่าหากปีนี้น้ำจะมากเท่ากับปีที่ผ่านมาอีกก็เป็นเรื่องคิดหนักที่จะต้องคิด เพราะโบราณสถานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง หากคันป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ที่ทำไว้แล้วเกิดการทรุดตัวลงมาอีกโบราณสถานก็จะถูกน้ำท่วมเช่นกัน" นายวิทยา กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจาก จ.พระนครศรีอยุธยาว่า หลังเกิดมหาอุทกภัยท่วมเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โบราณสถานสำคัญ ๆ หลายแห่งจมน้ำทั้งหมดและได้รับความเสียหาย ล่าสุดพบกำแพงโบราณสถานวัดมหาธาตุ ด้านทิศเหนือติดกับโบราณสถานวัดราษบูรณะ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นกำแพงของโบราณสถานวัดมหาธาตุ มีขนาดกว้างประมาณ 1.50 เมตร สูงประมาณ 1.80 เมตร เป็นกำแพงที่กรมศิลปกรก่ออิฐขนาดดินเผาก่อสร้างทับกำแพงเดิมไว้ เกิดพังทลายลงมาเป็นความยาวประมาณ 10 เมตร ทำให้เนื้ออิฐด้านในกำแพงพังทลายตามลงมาด้วย สร้างความเสียหายตลอดแนว
สาเหตุคาดว่าการพังทลายลงมาของกำแพงโบราณสถานดังกล่าว น่าจะมาจากน้ำท่วมที่ผ่านมา จนทำให้พื้นดินที่สำหรับก่อกำแพงเกิดทรุดตัวทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักตัวกำแพงขนาดใหญ่ไว้ได้ จึงได้พังทลายลงมา และยังพบว่ามีตัวกำแพงลักษณะเดียวกัน ล่อแหลมต่อการพังทลาย จากดินที่ยุบตัว ทำให้ฐานกำแพงเป็นช่องโหว่ใกล้พังทลายลงมาตลอดแนวรอบโบราณสถานหลายแห่งหลายจุดจากพิษน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ภายในโบราณสถานหลายแห่งภายในเกาะเมืองมีสภาพไม่แตกต่างกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโครงสร้างของโบราณสถานที่ถูกน้ำท่วม ดินทรุดตัว ประกอบกับความชื้นตัวโบราณสถานจากน้ำท่วมทำให้โครงสร้างไม่มั่นคง กรมศิลปกรต้องนำเชือกมาขึงกั้นเขียนป้ายกำกับ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเตือนระวังไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใกล้บริเวณดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าจะทำอันตรายต่อตัวโบราณสถานและตัวนักท่องเที่ยวเอง
และที่สำคัญยิ่งกว่าการพังทลายของโบราณสถาน ในวันที่ 10-19 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมพื้นที่บริเวณดังกล่าวจัดการแสดง แสง สี เสียง อยุธยามรดกโลกด้วย ยิ่งจะเป็นการเสี่ยงต่อการเสียหายต่อโบราณสถานเป็นอย่างยิ่ง เพราะในการแสดง แสง สี เสียง แต่ละครั้ง ต้องขนย้ายอุปกรณ์ นักแสดงปีนป่ายตามโบราณสถาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวผู้สื่อข่าวกำลังติดต่อถึงความเสียหาย
อย่างไรก็ดี ชาวบ้านในพระนครศรีอยุธยา หลายคนต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าในช่วงนี้ไม่เหมาะแก่การจัดงานมรดกโลก แสง สี เสียง เพราะการที่ เอานักแสดงหลายร้อย หลายพันคนรวมถึงช้าง ม้า วัว ควาย ไปวิ่งที่โบราณสถาน อีกทั้งการนำเครื่องเสียงที่มีความดังมาก และพลุที่จุดนั้น อาจจะส่งผลกระทบทำให้โบราณสถานเกิดรอยร้าวและพังทลายเพิ่มขึ้น เพราะยังไม่ได้บูรณะ และชาวบ้านยังพึ่งผ่านการประสบภัยน้ำท่วมมาไม่นาน ไม่อยากให้สมบัติของโลกต้องสียหายเพราะการจัดงานครั้งนี้
มีรายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะเดินทางมาตรวจสอบสภาพความเสียหาย พร้อมติดตามความคืบหน้าการซ่อมแซมเบื้องต้น