xs
xsm
sm
md
lg

Focus: ผู้เชี่ยวชาญชี้โบราณสถาน “อยุธยา” เสี่ยงพังทลายหลังผ่านอุทกภัยครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถานเตือน อุทกภัยซึ่งท่วมขังเกาะเมืองอยุธยานานหลายสัปดาห์อาจบั่นทอนฐานรากของสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ จนเกิดการพังทลายลงในที่สุด
เอเอฟพี - แม้โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะยืดหยัดผ่านกาลเวลามานานหลายร้อยปี แต่ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า อุทกภัยซึ่งท่วมขังแผ่นดินกรุงเก่านานนับเดือนอาจส่งผลให้โบราณสถานบางแห่งเกิดการพังทลาย

ปริมาณฝนที่มากผิดปกติในฤดูมรสุมปีนี้ทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลบ่าจากภาคเหนือลงมาท่วมที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม กระแสน้ำได้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 600 ราย และอีกหลายล้านคนต้องสูญเสียบ้านเรือนรวมถึงวิถีชีวิตของตนเอง

พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางเหนือราว 80 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยหนักหนาสาหัสที่สุด ภาพถ่ายทางอากาศเผยให้เห็นวัดวาอารามและโบราณสถานประหนึ่งจมอยู่กลางทะเลสาบขนาดใหญ่

สิ่งปลูกสร้างอายุหลายร้อยปีต้องจมอยู่ใต้น้ำขุ่นข้นนานหลายสัปดาห์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญในเมืองมรดกโลกแห่งนี้เริ่มปรากฎรอยร้าว

หลังจากระดับน้ำในอยุธยาลดลงจนเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ทางการจึงประกาศเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ปีนป่ายขึ้นไปบนตัวโบราณสถาน เพราะอาจเกิดการพังทลายได้

ชัยนันท์ บุษยรัตน์ ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ประเมินความเสียหายในครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท และชี้ว่ายังไม่อาจสรุปผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดได้

“โครงสร้างโบราณสถานไม่ได้ถูกออกแบบให้รับน้ำหนัก (น้ำ) มากขนาดนี้ น้ำซึ่งท่วมขังเป็นเวลานานยังทำให้พื้นดินอ่อนตัว ซึ่งจะส่งผลให้ฐานรากของโบราณสถานไม่มั่นคง อาคารบางแห่งอาจจมลง หรือที่ร้ายที่สุดก็อาจจะถล่มลงมา” ชัยนันท์ ให้สัมภาษณ์

ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ใจกลางเมืองอยุธยาน้ำเริ่มแห้ง แต่วัดวาอารามซึ่งตั้งอยู่รอบนอกอุทยานประวัติศาสตร์ยังคงมีน้ำท่วมขัง

เกาะเมืองอยุธยาตั้งอยู่กลางวงล้อมของแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ซึ่งทำให้โบราณสถานบนเกาะเสี่ยงต่ออุทกภัยเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก

ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ อธิบายว่า ในอดีตเกาะเมืองอยุธยาเคยมีเครือข่ายลำคลองอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยระบายน้ำไม่ให้ท่วมเมือง

“ปัจจุบันลำคลองหลายสายถูกถม หรือไม่ก็ตื้นเขินไปตามกาลเวลา” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าว หลังเจ้าหน้าที่ยูเนสโกลงพื้นที่สำรวจความเสียหายบนเกาะเมืองอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี(17)

“มีความกังวลว่า รากฐานของโบราณสถานบางแห่งอาจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้โบราณสถานเหล่านั้นไม่มั่นคงแข็งแรงอีกต่อไป... แต่เวลานี้คงยากที่จะสรุปว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรุนแรงเกินว่าตัวโบราณสถานจะรับได้ หรือยังอยู่ในระดับที่รับไหว”

ที่วัดพระราม ชัยนันท์ ชี้ให้ดูรอยแตกแนวดิ่งบนโครงสร้างอิฐ ซึ่งมีความยาวร่วม 2 เมตร

“ผมว่ารอยแตกคงจะเกิดในช่วงที่น้ำท่วม สำหรับเจดีย์ขนาดเล็กนี่ยังถือว่าไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักหลายตัน จะน่าเป็นห่วงและน่ากลัวมากกว่าสำหรับผม”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุดก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องเปิดโบราณสถานอยุธยาให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้ง

กระแสน้ำแห้งเหือดไป ทิ้งไว้เพียงเศษขยะและสิ่งปฏิกูลกระจัดกระจายอยู่เต็มพื้นที่ ตั้งแต่ถุงพลาสติกไปจนถึงกิ่งไม้หัก

สุนีวรรณ พุดซ้อน วัย 65 ปี หนึ่งในพนักงานทำความสะอาดซึ่งกำลังเก็บกวาดขยะรอบๆองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดโลกยสุธาราม บอกว่า เธอและเพื่อนๆตั้งใจจะทำให้โบราณสถานแห่งนี้กลับมางดงามอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะระหว่างน้ำท่วมมีชาวบ้านบางคนหนีน้ำขึ้นมาอาศัยบนโบราณสถาน และทิ้งเศษขยะเอาไว้เกลื่อนกลาด ไม่เว้นแม้กระทั่งซากรถตุ๊กตุ๊ก

“ฉันก็รู้สึกเสียใจ เพราะนี่เป็นโบราณสถานเก่าแก่และเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราก็ควรจะช่วยกันปกป้องไว้ แต่เราไม่รู้ว่าน้ำจะมามากขนาดนี้ ไม่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน” สุนีวรรณ กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น