พิษณุโลก - เปิดเสวนา"พม่าในประชาคมอาเซียน" นักวิชาการติงคนไทยอย่าอิงอดีต เตือนรับการเปลี่ยนประเทศพม่าที่รวดเร็ว จับตาเมืองเศรษฐกิจพิเศษ"เมียวดี-แม่สอด"มีสิทธิ์โตพรวดในอนาคต
รายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลก แจ้งว่า คณะมนุษยศาสตร์ และสถานบันต่างประเทศสราญรมย์ กระทรวงต่างประเทศ ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการ"พม่าในประชาคมอาเซียน"ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการ,พ่อค้า, ข้าราชการตามแนวตะเข็บชายแดนตั้งแต่เชียงราย - อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าร่วมกว่า 300 คน
รศ.กาญจนา วิชญาปกรณ์ คณะบดีคณะมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศพม่าพยายามเปิดประเทศเพื่อก้าวสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจและการเมืองตามวิถีของตน แต่กลับเกิดประกฎการณ์คนข้ามแดน เพื่อความอยู่รอดนำมาสู่ปัญหาในหลายด้าน อย่างไรก็ตามคนไทยยังวนเวียนกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่แปรรูปมาเป็นสื่อ
ดังนั้น จำเป็นที่ต้องเสวนาหรือเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ เพื่อประเมินสถานการณ์ความพร้อม"พม่าในประชาคมอาเซียน"ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม
นางฉัตรวดี จินดาวงษ์ ตัวแทนกระทรวงต่างประเทศ เผยว่า ต้องยอมรับว่า พม่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอาเซียน ซึ่งประเทศไทยจะต้องมองใน 2 ระดับ คือ ไทยกับพม่า และไทยกับอาเซียน โดยนายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนประเทศพม่า ยิ่งทำให้ช่วยประสานภาคการค้าการลงทุนของไทยในประพม่ากระชับขึ้น
ส่วนกรณีสิทธิมนุษย์ชน ถือว่า ดีขึ้น แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งในหลักการแล้ว อาเซียนยอมรับสิทธิมนุษย์ชนในพม่ามากขึ้น แม้ทราบดีว่ามีการละเมิดอยู่ แต่เชื่อว่า ประเทศในอาเชียน มีกลไดดูแลอยู่
นายอภิรัฐ เหวียนระวี อดีตทูตไทยในประเทศพม่า เปิดเผยว่า ผมดำรงตำแหน่งทูตไทยในประเทศพม่าก่อนเกษียณอายุราชการ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศพม่าชัดเจนในระยะ 1-2 ปี ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะที่ดีกว่าเดิมมาก ซึ่งประเทศพม่าได้เปรียบเรื่องท่องเที่ยวกว่าไทย ดีกว่า"เมืองปาย"หลายเท่า เพราะวิถีชิวิตคนพม่านั้นยังดั้งเดิม
แต่จุดอ่อนของคนพม่านั้น คือ คนรู้ภาษาอังกฤษน้อย ทำให้การพัฒนาท่องเที่ยวในประเทศไปไม่ไกล ดังนั้นหากคนไทยเอื้อมมือไปช่วยให้ความรู้กับคนพม่า จะทำให้คนพม่าซาบซึ้งน้ำใจคนไทยไปอีกนาน เพราะคนพม่าเวลานี้ขาดความสามารถและศักยภาพ
“อย่าลืมว่า รัฐมนตรีสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศฝั่งตะวันตกก็มาเยือนประเทศพม่า แต่วันนี้ ประเทศในโลกตะวันตกยังคว่ำบาตรประเทศพม่าอยู่ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่เป็นผลดีต่อนานาประเทศโดยเฉพาะอาเชียน เพราะเมื่อคนพม่าลำบาก ประเทศเพื่อนบ้านพม่าก็ไม่สามารถก้าวข้ามทางเศรษฐกิจในประชาคมอาเซียน”
ขณะที่นายวิชัย เข็มทองคำ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า เกษตรกรรมในประเทศพม่าพัฒนาไปมาก ข้าวหอมมะลิ ประกวดได้ที่ 1 ถ้าคนไทยไม่พัฒนาข้าวไทย มัวแต่พูดว่า รับจำนำหรือประกันราคาข้าวดี
ก็คิดว่าสู้ข้าวพม่า 2 ไม่ได้แน่ ส่วนชาวนาไทยทำข้าวได้ผลิตผล 700 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนภาคเอกชนหรือธุรกิจของพม่านั้น ยังสู้กับคนไทยไม่ได้ยากที่แข่งขันกับคนไทยได้ แต่อย่าประมาท
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ตัวเลขคนพม่าในแม่สอดมีจำนวน 1.5 ล้านคน แต่ตัวเลขไม่เป็นทางการประเมินว่าเกิน 2 ล้านคน ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พม่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ถือว่า เป็นการจัดระเบียบทางสังคมเช่น ชนกลุ่มน้อย ส่วนด้านเศรษฐกิจ ก็เตรียมเปิดเศรษฐกิจพิเศษเมืองเมียวดี โดยขึ้นตรงกับเมืองหลวงนิปิดอว์ ดังนั้นคนไทยต้องรับรู้และรับทราบ เมืองเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดจะต้องเร่งปรับตัวพัฒนาการค้าชายแดน และก้าวให้ถึงการค้าเต็มรูปแบบในประเทศพม่า เพราะมูลค่าการค้าไทย-พม่ามีมากถึง 3 หมื่นล้านต่อปี
“เพียงแค่เปิดสะพานมิตรภาพแม่สอดยอดการค้าก็เพิ่มพรวดทันที 40% การค้าขายเมืองเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี-แม่สอดจะรุ่งเรืองกว่าที่เป็นอยู่ เพียงแต่ข้อด้อยในฝั่งพม่า คือ พัฒนาระบบคมนาคมช้ากว่าไทย ดังนั้นคนไทยต้องอาศัยระบบลอจิสติกส์ของไทย ผ่านสินค้าจากเมืองเศรษฐกิจพิเศษคู่แฝด ผลักดันส่งสินค้าไปท่าเรือแหลมฉบังจะรวดเร็วและสะดวกกว่า”