xs
xsm
sm
md
lg

‘หอมมะลิ’ ตกบัลลังก์สุดยอดข้าวโลก ข้าวไทยสะเทือนหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นอกจากผืนนาของเหล่ากระดูกสันหลังของชาติกว่าค่อนประเทศ จะจมอยู่ในธารน้ำมหาศาลนับเดือนแล้ว ในปีนี้ความเสียหายของข้าวไทยไม่ได้หมดลงแค่นั้น โดยเฉพาะ ‘ข้าวหอมมะลิ’ ที่เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล ถูกเขย่าบัลลังก์ข้าวที่ดีและยอดนิยมที่สุดในโลก เพราะพ่ายข้าวสัญชาติพม่า นามว่า ‘เพิร์ล ปอว์ ซาน’ (Pearl Paw San) หรือหากแปลเป็นไทยก็เรียกว่า ข้าวไข่มุกปอว์ซาน

ข้าวเมล็ดกลม มีความยาวเพียง 5.0-5.5 มิลลิเมตร แต่เมื่อหุงสุกจะพองขึ้น 3-4 เท่าและยังมีกลิ่นหอมน่ารับประทานทั้งก่อนและหลังปรุง คว้ารางวัลชนะเลิศในการประกวดสุดยอดข้าว ในงานการประชุมข้าวโลก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ข้าวเพิร์ล ปอว์ ซาน จากประเทศพม่า สามารถเบียดชนะข้าวกว่า 30 สายพันธุ์ที่ส่งเข้าประกวด โดยเกณฑ์การตัดสินข้าว พิจารณาจากรสชาติ สี และคุณภาพของตัวข้าวเป็นสำคัญ ซึ่งการประกวดที่เริ่มเมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้การสนับสนุนของไรซ์ เทรดเดอร์ส องค์การที่ปรึกษาข้าวระดับโลก ข้าวหอมมะลิของไทยครองตำแหน่งสุดยอดข้าวไปครองติดต่อกันใน 2 ปี

พ่อครัวจากสถาบันด้านศิลปะการทำอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ จากเมืองซาเครเมนโต สหรัฐอเมริกา ไมเคิล ครอส กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินข้าวหลากหลายสายพันธุ์ โดยพิจารณาถึงคุณสมบัติของตัวข้าวเป็นหลัก โดยไม่มีส่วนผสมอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การตัดสินจากกรรมการทั่วโลกเล็งเห็นว่าด้วยคุณสมบัติที่ข้าวเพิร์ล ปอ ซาน ที่มีเม็ดกลมหนา แต่สามารถขยายความยาวมากขึ้นได้เมื่อผ่านการหุง พร้อมทั้งกลิ่นหอมเฉพาะตัวนี่เองที่เฉือนชนะข้าวสีดำของอิตาลีและข้าวหอมมะลิที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยไปได้

มาดูเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ข้าวหอมมะลิไทยต้องตกจากตำแหน่งข้าวที่ดีและอร่อยที่สุดในโลกไปพร้อมกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

วิถีการเมืองบนเมล็ดข้าว

แน่นอนใครก็ต่างภาคภูมิในความเป็นตัวเองกันทั้งนั้น แต่การยอมรับในด้านการส่งออกข้าวของไทยก็เป็นอย่างหนึ่งที่สามารถการันตีคุณภาพทางด้านนี้ได้ ซึ่งหากมองในด้านอื่นที่นอกเหนือจากเรื่องของคุณสมบัติและมาตรฐานในการตัดสินของครั้งนี้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญไม่แพ้กัน

ในเรื่องนี้ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานชุมชนธรรมเกษตร อธิบายถึงความพ่ายแพ้ของข้าวหอมมะลิไทยต่อข้าวเพิร์ล ปอ ซาน ของพม่าว่า มาจากปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเรื่องคุณภาพ รสชาติ ลักษณะ และสีสันของข้าว รวมไปถึงปัจจัยทางการเมืองก็มีส่วนสำคัญไม่ได้น้อย

"เป็นเรื่องธรรมดามากๆ เพราะความจริงในโลกเรานี้มีข้าวที่ดีหลายพันธุ์ ฉะนั้นการที่ไทยชนะมา 2 ครั้งแล้ว ปีนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะหลุด เพราะในทางกลับกันหากได้ทุกปีซิแปลก ถ้าดูกันจริงๆ เราก็ยังเป็นตัวเต็งเหมือนเดิม ดังนั้นในเชิงคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยจึงไม่ได้ตกต่ำอะไร โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าเรื่องนี้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เรื่องคุณภาพล้วนๆ เนื่องจากลักษณะของข้าวแต่ละพันธุ์นั้นมันไม่มีอะไรเหมือนกัน

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหลังจากพม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อะไรๆ ก็เริ่มดีขึ้น และจริงๆแล้วต้องยอมรับว่าทั้งพม่า เขมร เวียดนาม อินเดีย เขาก็มีพันธุ์ข้าวดั้งเดิมสายพันธุ์ดีๆ ไม่แพ้ไทย แต่มันไม่ได้พัฒนามานาน ศักยภาพส่งออกไม่แพ้ไทย แต่ที่ประสบความสำเร็จเพราะว่าได้หากเกษตรกรผลิตข้าวได้ 1 ตัน รัฐบาลจะเอาไป เสีย 600 ถัง พวกกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ เอาไปอีก 200-300 ถัง แบบนี้ก็ไม่มีใครอยากทำนา เพราะฉะนั้นเมื่อเขาสามารถเปิดประเทศได้ โดยไม่มีรัฐบาลมากดขี่ขูดรีด ผลผลิตข้าวก็จะมีปริมาณสูงขึ้นตามไปด้วย"

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ข้าวพันธุ์ดีของพม่าได้รับการยอมรับจากเวทีนี้ ย่อมส่งผลมาสู่ระบบการส่งออกของเมืองไทย ซึ่งเป็นเจ้าตลาดของข้าวเกรดหนึ่งมาตลอด ดร.เพิ่มศักดิ์ บอกว่าในเชิงการตลาดนั้นยอมรับว่า ข้าวไทยครองตลาดมานาน โดยเฉพาะในตลาดข้าวคุณภาพสูง ซึ่งพัฒนามาเป็น 10-20 ปี เพื่อหนีเวียดนาม หนีอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งขัน ที่ก็ต่างพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพสูง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ข้าวหอมมะลิจะมีคู่แข่งอย่างแน่นอน

“เพราะฉะนั้นถ้าไทยจะอยู่รอดต่อไปได้ ก็ต้องปรับปรุง 2 ส่วน ประเด็นแรกก็คือเรื่องการค้า การส่งออก รัฐบาลจะต้องไม่ไปแทรกแซงมาก แต่ต้องสนับสนุนในภาคเอกชน อีกเรื่องก็คือ ในเชิงคุณภาพที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากเราดูตัวเลขคุณภาพดิน พบว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของดินนั้นมีปัญหา ดินที่มีสารตกค้างจากพิษมาก ซึ่งสะท้อนว่าคนไทยอาจจะถูกกระตุ้นให้สารเคมีอย่างไม่ถูกวิธีทำให้ดินมีปัญหา ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะไปกระทบต่อคุณภาพของข้าวหอม เช่น เรื่องกลิ่นหอม

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีหน้านี้ ปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวจะแสดงออกมาอย่างชัดเจน เพราะพันธุ์ข้าวหอมมะลิจะหายากขึ้น เนื่องจากเจอปัญหาน้ำท่วม ซึ่งสะท้อนให้ได้เป็นอย่างดีว่า พันธุ์ข้าวหอมมะลิยังไม่สามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายหรือเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ แต่ก็ได้เปรียบตรงที่ติดตลาดโลกแล้ว”

แพ้ - ชนะ กินขาดกันด้านการพัฒนา

“ข้าวของเรานั้น มันมีคุณภาพที่เป็นมาตรฐานของตัวเองมากว่า 50 ปีแล้ว ทางกรมการข้าวนั้นก็พยายามรักษาคุณภาพตรงนี้เอาไว้ ทั้งขนาดของขนาดโครงสร้างของเมล็ด ความขาวความหอมและความแกร่งของเมล็ด รวมไปถึงความเหนียวนุ่มที่เรารักษามาโดยตลอด ข้าวของเราถึงติดตลาดโลกและมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ดร.บริบูรณ์ สมฤทธิ์ ที่ปรึกษาของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าให้เราฟังถึงการควบคุมมาตรฐานของข้าวหอมมะลิตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการประกวดที่ไทยเราได้ที่ 2 นั้นเขามีความเห็นว่า

“การที่เราแพ้การประกวดนั้น มันขึ้นอยู่กับกรรมการว่า เขาชอบแบบไหนมากกว่า มันสูสีกันมาก คือพันธุ์ข้าวของพม่าของเขมรนั้นเขามีอยู่แล้ว เมื่อก่อนพม่าก็เคยส่งออก แต่พอมีปัญหาก็เลิกไป แล้วการพัฒนาพันธุ์ข้าวของพม่านั้น จะเน้นไปที่การพัฒนาข้าวที่มาจากฟิลิปปินส์มากกว่า เน้นหนักไปทางผลผลิต และเพิ่งกลับมาพัฒนาเรื่องคุณภาพได้ไม่นานนี้เอง

“พวกเขามีพันธุ์พื้นเมืองมากพอสมควร มันคงจะมีการรื้อฟื้นพันธุ์เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งดูจากชื่อแล้วก็น่าจะเป็นการตั้งใหม่ การประกวดนั้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะส่งกันทั้งนั้น เพราะแต่ละที่ก็มีพันธุ์ข้าวของตน แต่ลาวนั้นอาจจะไม่ เพราะเขาบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก”

แต่สุดท้าย ดร. บริบูรณ์ก็เน้นย้ำว่า ไม่ว่าเราจะแพ้ด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ อย่างไรมันก็ไม่กระทบต่อการส่งออกสักเท่าไหร่
“กว่าพม่าเขาจะพัฒนาให้กลับมาส่งออกเต็มที่ได้อีกครั้ง ก็น่าจะช้าหน่อย ตอนนี้เรารักษาคุณภาพข้าวของเราให้ดีเหมือนเดิมก็พอแล้ว”

กระดูกสันหลังครวญ

เมื่อฉายภาพจอใหญ่ให้เห็น แต่สิ่งที่สำคัญของความสวยงามคือเม็ดสี ชาวนาจึงเป็นจุลภาพที่มีขนาดเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาพใหญ่ ในเรื่องนี้ สุพจน์ เสน่ห์รัมย์ ชาวนาแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดบุรีรัมย์บอกว่า อย่างไรก็ดี เชื่อว่าชาวนาไทยทุกคนยังคงภาคภูมิใจกับผลผลิตของตนเองเสมอ ไม่ว่าผลการแข่งขันจากเวทีใดจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ชาวนาเชื่อว่าตนเองผลิตผลงานของตนเองด้วยความตั้งใจเต็มที่และใส่ใจในทุกรายละเอียด

“เราผลิตข้าวเกรดเอ ส่วนใหญ่ที่เรากินเองจะเป็นข้าวหอมมะลิล้วนเลย แต่ที่เอาไปขายส่วนมากพ่อค้าคนกลางจะเอาข้าวนาปรังอย่างอื่นไปผสม จะเห็นได้ว่าข้าวของเราหอมมากจะแพ้ใครก็ตรงที่คนรู้มากเอาข้าวไม่ค่อยดีไปผสมนั้นแหละ ข้าวพม่าสู้หอมมะลิไทยไม่ได้หรอก ลุงไม่เคยกินแต่เห็นเคยได้ยินว่ามันไม่หอม เราจะไปกินข้าวประเทศอื่นไม่ได้หรอก รสชาติมันผิดกันมาก

“แค่ลุงต้องไปกรุงเทพฯ ต้องกินข้าวที่นั่นความหอมรสชาติสู้ที่บ้านไม่ได้เลย ถ้าข้าวที่เอาออกไปประกวด ถูกใส่ใจเหมือนข้าวที่เราหุงกินเอง อย่างไรก็ไม่มีใครสู้เราได้เรื่องคุณภาพ ได้ยินข่าวนี้ก็ไม่เสียใจหรอก เพราะเราต้องมั่นใจว่าของเรานี่ของดีจริง มันต้องมีเรื่องอื่นเทคนิคที่จะแพ้เรา แต่เชื่อว่าอย่างไงก็ตีตลาดของเราไม่แตก”

อีกหนึ่งตัวแทนคนกินข้าวอย่าง สิทธิโชค แซ่ห้วง ยอมรับว่า แม้ไม่ทราบข่าวที่ข้าวไทยตกอันดับ เสียตำแหน่งข้าวคุณภาพให้กับพม่า แต่เชื่อว่าไม่สามารถส่งผลต่อพฤติกรรมการกินข้าวของคนทั่วไปโดยเฉพาะคนไทยได้ แต่ก็อาจจะกระทบในส่วนของเศรษฐกิจด้านการส่งออกบ้าง เพราะเพิ่มทุกประเทศก็ต่างพัฒนาสินค้าเพื่อการแข่งขันซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ

“มันคงมีผลด้านเศรษฐกิจ การส่งออกอาจจะตกลง เพราะข้าวมันตกอันดับ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องรสชาติ คนไทยทั่วไปกินกันอยู่แล้ว”

ในส่วนของรสชาติข้าวที่กินอยู่เป็นประจำ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้อันดับตกลงนั้น สำหรับเขาแล้วไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น

“วันก่อนก็กินข้าวที่รสชาติยังเหมือนเดิมอยู่ ส่วนตัวแล้วคิดว่ามันอาจมีตัวแปรหลายอย่างในการทำให้ข้าวตกอันดับ ไม่ว่าจะเป็นด้านแบรนด์ของข้าวที่ได้รับการส่งออก ข้าวที่ไปทดสอบอาจจะไม่ได้อร่อยที่สุดในประเทศไทยก็ได้

“ในทางปฏิบัติ เวลาจะกินข้าว ประเด็นจะไปอยู่ที่กับข้าวมากกว่า เรากินข้าวกันมาตั้งแต่เกิด มันเป็นความเคยชิน อร่อยไม่อร่อยไม่ถึงกับสนใจมาก ยกเว้นจากข้าวนั้นมันจะแย่จริงๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับร้านที่ไปกินด้วย เขาใช้ข้าวไม่ดี หุงไม่อร่อยมันก็ไม่อร่อย แต่อย่างที่บ้านก็หาของดีเข้าบ้านอยู่แล้ว แต่กับชาวต่างชาติที่ไม่ได้กินข้าวเป็นประจำ การกินข้าวของเขาก็จะเป็นคนละแบบกับเรา”

ไม่ว่าอะไรจะเป็นปัจจัยของการตัดสินในครั้งนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคงนี้ไม่พ้นการพัฒนา ความพ่ายแพ้ครั้งนี้คงไม่ได้ลดทอนความภาคภูมใจในข้าวของชาติลงไปจากใจคนไทยมากนัก และไม่ใช่เวลาที่นั่งโทษใคร แต่สิ่งสำคัญคือ มองว่า ความพ่ายแพ้ของข้าวหอมมะลิไทยที่ภูมิใจกันมายาวนานว่า ดีและเจ๋งที่สุดในโลกตลอดมา ครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่ดีเพื่อปรามไม่ให้เหลิงลอยลมในตำแหน่งแชมป์มากเกินไป เพราะการเป็นแชมป์อยู่บนจุดสูงสุดว่ายากแล้ว แต่การป้องกันแชมป์ให้ยืนยงคงกระพันไม่ให้มีใครมาล้มได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ยากกว่าหลายเท่า

เพราะฉะนั้นการรักษาคุณภาพข้าวหอมมะลิไทยให้ดีเลิศและพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมถึงค้นหาข้าวสายพันธุ์ไทยใหม่ๆ ที่มีเป็นร้อยพันสายพันธุ์ดั้งเดิมในแต่ละพื้นถิ่นของภูมิภาคต่างๆ ทั่วเมืองไทยมาพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ เพื่อให้ได้ข้าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพื่อส่งออกสู่เวทีโลกก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำควบคู่ไปด้วย

...........

แต่ว่าไปแล้ว ทุกอย่างก็เป็นแค่การประกวดเพื่อส่งเสริมการส่งออก ต่อให้ข้าวอะไรจากประเทศไหนจะรสเลิศมากกว่าข้าวไทย แต่เชื่อว่ายางข้าวที่มีสายพันธุ์จากผืนแผ่นดินนี้ ก็ยังคงอร่อยถูกปากและเลี้ยงเผ่าพันธุ์เราให้เติบโตได้เช่นเดิม...ไปจนกาลนาน

>>>>>>>>>>

……….

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ธนารักษ์ คุณทน


กำลังโหลดความคิดเห็น