xs
xsm
sm
md
lg

‘เกาหลีเหนือ’เล็งทำข้อตกลง‘ซื้อ’ข้าวจาก‘พม่า’

เผยแพร่:   โดย: บรูโน เดอ ไปวา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

North Korea seeks rice deal
By Bruno de Paiva
18/08/2011

พม่าอาจจะกำลังใกล้ที่จะส่งข้าวไปให้แก่เกาหลีเหนือแล้ว ภายหลังการประชุมเจรจากันในนครย่างกุ้งระหว่างคณะเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศ มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าข้อตกลงคราวนี้จะอยู่ในรูปของการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้ากัน คำถามจึงอยู่ที่ว่าเกาหลีเหนือที่ประสบความลำบากยากแค้นหนักหน่วงเหลือเกินอยู่แล้ว เสนออะไรมาแลกเปลี่ยนด้วย คำตอบที่เป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนิวเคลียร์

พม่าอาจจะกำลังใกล้ที่จะส่งข้าวไปให้เกาหลีเหนือแล้ว โดยมีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ประเทศทั้งสองจะทำข้อตกลงในรูปของการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการกัน (barter trade) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่า เกาหลีเหนือกำลังประสบความลำบากยากแค้นอย่างสาหัสและอยู่ในสภาพขาดแคลนเงินทุนเป็นอย่างยิ่ง

คณะเจ้าหน้าที่ด้านการค้าของเกาหลีเหนือได้ไปเยือนพม่าในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อเจรจาหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะทำข้อตกลงกันในเรื่องข้าว เพื่อที่จะผ่อนคลายภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนักหน่วงในแดนโสมแดง สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเรื่องนี้โดยอ้างแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลในนครย่างกุ้งผู้หนึ่ง ซึ่งขอไม่ให้ระบุชื่อ

หากสามารถทำข้อตกลงเพื่อการส่งข้าวของพม่าไปยังเกาหลีเหนือได้สำเร็จ ย่อมถือเป็นชัยชนะที่ได้กันไปทั้งสองฝ่าย เนื่องจากประเทศทั้งสองต่างก็กำลังถูกนานาชาติลงโทษคว่ำบาตร ซึ่งมีส่วนทำให้เกาหลีเหนือและพม่าตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นอีกตลอดรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าพม่ายังคงมีฐานะเป็นผู้ส่งออกอาหารรายสำคัญรายหนึ่ง โดยที่ได้ส่งออกข้าวไปเป็นจำนวนประมาณ 450,000 ตันในระยะ 7 เดือนแรกของปีนี้ ทว่าเศรษฐกิจของพม่าก็ยังคงล้าหลังอยู่อีกหลายช่วงตัวจากพวกชาติเพื่อนบ้านอย่างเช่นไทยและอินเดีย

สำหรับเกาหลีเหนือ ข้อตกลงนำเข้าข้าวจากพม่าก็จะเป็นประโยชน์อย่างสูงเช่นเดียวกัน โสมแดงนั้นกำลังประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร สืบเนื่องจากหลายๆ สาเหตุผสมผสานกัน ทั้งเรื่องการบริหารรัฐกิจที่ย่ำแย่เต็มที, ภาวะภัยแล้งอันรุนแรงยิ่ง, ตลอดจนการถูกนานาชาติทั่วโลกลงโทษศว่ำบาตร การได้ข้าวพม่าเข้าไปย่อมสามารถผ่อนปรนปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นการได้พม่าเป็นผู้จัดส่งข้าวให้อีกรายหนึ่ง ยังจะช่วยให้เกาหลีเหนือสามารถลดทอนการพึ่งพิงประเทศหุ้นส่วนรายสำคัญที่สุดของตน ซึ่งก็คือ ประเทศจีน นั่นเอง

ในปี 2002 ตอนที่หู จิ่นเทาก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน การค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 739 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อมาถึงปี 2010 การค้าระหว่างประเทศทั้งสองมีมูลค่าทั้งสิ้น 3,500 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบๆ 5 เท่าตัวทีเดียว การค้าขายกับจีนในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 83% ของปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของโสมแดง อันมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นราว 4,200 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

การที่เกาหลีเหนือเพิ่มการพึ่งพิงอาศัยจีนในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ สาเหตุสำคัญนื่องจากการถูกลงโทษคว่ำบาตรและการตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวในระดับโลกมากยิ่งขึ้น สืบเนื่องจากการเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของโสมแดง สภาพการณ์เช่นนี้บังเกิดผลดีแก่จีนเป็นอันมาก เนื่องจากแดนมังกรมีความปรารถนาที่จะมีฐานที่มั่นในเชิงยุทธศาสตร์อันมั่นคงใหญ่โตยิ่งขึ้นไปอีกในเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม มันกลับสร้างความไม่สบายใจให้แก่รัฐบาลเกาหลีเหนือเอง เนื่องจากการที่ต้องพึ่งพาจีนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า อุดมการณ์ “จูเช่” (การพึ่งตนเอง) ซึ่งโสมแดงย้ำนักย้ำหนานั้น เป็นสิ่งที่ใช้การไม่ได้

ถึงแม้การที่เกาหลีเหนือจะไปทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ นอกเหนือจากจีน น่าที่จะประสบกับการถูกตรวจสอบอย่างหนักจากรัฐบาลจีน แต่การทำความตกลงกับพม่ากลับน่าจะไม่นำไปสู่ความวิตกกังวลอันเกินเหตุใดๆ อันที่จริงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่าเองก็ได้กระชับแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเป็นอันมากในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมา โดยที่จีนไปสร้างท่าเรือน้ำลึกในพม่าที่เมืองจ๊อกพยิว (Kyaukpyu) บนชายฝั่งอ่าวเบงกอล ตลอดจนช่วยเหลือการก่อสร้างฐานทัพนาวีในเมืองชิตต่วย (Sittwe) ซึ่งก็ตั้งอยู่ริมอ่าวเบงกอลเช่นเดียวกัน

การค้าสองทางระหว่างจีนกับพม่าได้พุ่งพรวดขึ้นไปเป็นอย่างมากในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา จนอยู่ในระดับ 4,400 ล้านดอลลาร์ในปี 2010 จากที่อยู่ในระดับ 2,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของรัฐบาลจีน

ถ้าหากข้อตกลงเรื่องข้าวระหว่างเกาหลีเหนือกับพม่าสามารถเดินหน้าไปจนสำเร็จ ข้อที่น่าเป็นห่วงอาจจะอยู่ที่ว่า พม่าจะได้รับอะไรเป็นการตอบแทนจากข้าวที่จัดส่งให้โสมแดง สิ่งหนึ่งที่มีโอกาสความเป็นไปได้อย่างสูงมากก็คือ การที่เกาหลีเหนือจะถ่ายทอดแบ่งปันความชำนาญในเรื่องนิวเคลียร์ของตนให้แก่แดนหม่อง

เกาหลีเหนือกับพม่าเพิ่งกลับฟื้นคืนความสัมพันธ์กันใหม่ในปี 2007 ภายหลังอยู่ในภาวะเย็นชากันมาถึง 24 ปี หลังจากที่เกาหลีเหนือพยายามแต่ล้มเหลว ในการก่อการลอบสังหาร ชุน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนี้น ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนพม่า

รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า คณะผู้แทนเกาหลีเหนือชุดหนึ่งยังได้ไปเยือนกัมพูชาเมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว เพื่อเจรจาหารือทำความตกลงกันในเรื่องการส่งข้าวเขมรไปที่โสมแดง รัฐมนตรีกัมพูชาผู้หนึ่งระบุว่า เกาหลีเหนือเสนอที่จะจัดส่งเครื่องจักรกลการเกษตรให้แก่กัมพูชา อันเป็นการบ่งชี้ว่าอาจจะมีการเจรจาหารือเพื่อทำข้อตกลงการค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้าบริการกัน รายงานข่าวชิ้นนี้ระบุ

เมื่อเดือนที่แล้ว สหภาพยุโรปแถลงว่าจะจัดหาความช่วยเหลือฉุกเฉินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14.5 ล้านดอลลาร์ไปให้เกาหลีเหนือ เพื่อใช้เลี้ยงดูชาวเกาหลีเหนือเป็นจำนวนกว่า 650,000 คน

(จากคอลัมน์ “Speaking Freely” ในเอเชียไทมส์ออนไลน์ ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนจะเป็นนักเขียนจากภายนอก ซึ่งประสงค์ที่จะแสดงความคิดเห็นของตน)
กำลังโหลดความคิดเห็น