xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ประจวบ วางแนวทางล้อมคอกแก้ปัญหาช้างป่า-ช้างบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - หวั่นเกิดเหตุฆ่าช้างซ้ำรอยเดิม ตำรวจประจวบคีรีขันธ์ จับมือฝ่ายปกครอง และกรมอุทยานฯ วางมาตรการล้อมคอกแก้ไขปัญหาช้างป่า และช้างบ้านถูกทำร้าย สนองพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงปัญหาช้าง พร้อมกำชับทุกฝ่ายทำงานจริงจัง

วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ห้องประชุมสถานีตำรวจภูธรหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พล.ต.ต.วิเชียร ตันตะวิริยะ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชุมหน่วยงานในพื้นที่หัวหิน ปราณบุรี กุยบุรี และ สามร้อยยอด ทั้งตำรวจภูธร, ตำรวจตระเวนชายแดน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, กุยบุรี, ฝ่ายปกครอง และเจ้าของปางช้างในพื้นที่ เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีเกี่ยวกับการทำร้ายช้างที่เกิดขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าและช้างบ้านถูกทำร้าย เนื่องจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นพื้นที่ที่มีประชากรช้างป่าอยู่เป็นมากกว่า 500 ตัว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีรอยต่ออยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี

ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ฆ่า เผานั่งช้างที่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งอยู่ติดพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เองก็มีคดีเกี่ยวกับขบวนการล่าช้างเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องหามาตรการแก้ไขปัญหา ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม

อีกทั้งเรื่องการฆ่าช้าง ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสเป็นห่วงปัญหาการทำร้ายช้าง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานจะต้องเข้ามาแก้ปัญหา

สำหรับพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีคดีเกี่ยวกับการทำร้ายช้างป่า และ ช้างบ้าน ในช่วง 2 ปีนี้จำนวนทั้งสิ้น 5 คดี โดยคดีที่เกิดขึ้นเกิดในพื้นที่ตั้งแต่อำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด และกุยบุรี และบางคดีชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนร้ายเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งตระเวนฆ่าช้างเอางา ส่วนคดีช้างบ้าน จะเป็นการตัดงา และตัดเอาขนบริเวณหาง กลุ่มคนร้ายเกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ และนายทุนต่างถิ่น ทั้งนี้ จะต้องจัดการปัญหาไปในทางเดียวกัน และจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับสัตว์คู่บ้านคู่เมืองขึ้นอีก

โดยในที่ประชุมได้มีมาตรการร่วมกัน เช่น หน่วยงานทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกรมอุทยานฯ จะต้องประสานงานกันในการจัดทำข้อมูลช้างป่า, ช้างบ้าน, ควาญช้าง, ปางช้าง, พรานป่า และข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กำหนดเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยงในการขนย้ายช้าง หรือเส้นทางเข้าออกป่า ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะ วัสดุและอุปกรณ์ที่อาจจะเกี่ยวเนื่องเช่น ยาสลบ ไซริงค์ เข็มฉีดยา

รวมทั้งการปิดล้อมตรวจค้นกลุ่มเป้าหมาย “เราอาจต้องใช้ยุทธการเปิดป่า และลงพื้นที่มากขึ้น” ในบางจุดที่เป็นเส้นทางสัญจรของช้าง และยานพาหนะ อาจจะต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดด้วย พร้อมได้กำชับทุกฝ่ายทำงานอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการณ์ฆ่าช้างซ้ำรอยเดิมเกิดขึ้นในพื้นที่อีกเด็ดขาด

กำลังโหลดความคิดเห็น