ประจวบคีรีขันธ์ - เจ้าของไร่สับปะรดเข้ามอบตัวพนักงานสอบสวน สภ.ปราณบุรี หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี แจ้งข้อหาพยามล่าหรือพยามฆ่าสัตว์สงวน หลังช้างป่ากุยบุรีถูกไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟขนาด 500 และ 300 โวล์ทช๊อตตายคาไร่สับปะรด ที่บ้านลากล้อ ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมย้ำให้ทุกคนทุกหน่วยงานยึดแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ปัญหาคนกับช้าง
เมื่อเวลา 10.00.น. วันนี้ (22 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีช้างป่าเพศผู้ในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถูกไฟฟ้าช็อตตาคาไร่สับปะรดที่หุบตาเช็ง บ้านลากล้อ ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.54 ที่ผ่านมา
ล่าสุด นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีช้างป่าถูกไฟฟ้าช็อตตายที่ผ่านมาเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าละอู และป่าเด็ง ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกสำหรับช้างป่าของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ที่ตายจากกระแสไฟฟ้าที่เปิดป้องกันไร่สับปะรด
“เรื่องนี้ผมได้สั่งการให้ทางนายอำเภอปราณบุรี เข้าไปในพื้นที่และไปสั่งห้ามให้เจ้าของไร่ต่างๆ งดการใช้ไฟฟ้าในลักษณะของการปั่นเครื่องปั่นไฟ เพื่อป้องกันช้างป่าเข้ามากัดกินพืชไร่ ในลักษณะแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นจนช้างป่าเสียชีวิต ผมไม่อยากให้ปัญหาคนกับช้าง รุนแรงมากไปกว่านี้ทั้งคนกับช้างจะต้องอยู่ร่วมกันได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เจ้าของพื้นที่คงต้องไปพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าของไร่ ทั้งหมดให้เข้าใจในการป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามาบุกกัดกินว่าจะต้องใช้วิธีใด”
ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าวอีกว่า เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในพื้นที่ป่ากุยบุรี เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ชาวบ้านเข้าใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่า มีโครงการพระราชดำริในการฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานต่างๆ ช้างป่าควรอยู่ในป่า แต่จะต้องทำให้ช้างมีอาหารเพียงพอ โดยปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารหลายๆ แห่งในป่าลึก เพื่อมิให้ช้างป่าออกมาบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม
“อีกทั้งยังมีพระราดำริอีกว่า กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัย แต่วันนี้ปัญหามาเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าของอำเภอปราณบุรี อีกครั้ง และผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาช้างป่าถูกไฟฟ้าช๊อตตายเกิดขึ้นอีก”
ด้าน หม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล ประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงรังษีนภดล ยุคล กล่าวว่า หลังรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ให้ทางคณะทำงานฯท่านหญิง ได้ลงพื้นที่และเข้าไปติดตามความคืบหน้าในด้านต่างๆ ซึ่งได้รายงานให้ทราบแล้ว ซึ่งก่อต้องบอกว่ารู้สึกเสียใจกับเรื่อน่าสลดที่เกิดขึ้นกับช้างป่าเพศผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตตายอยู่ในไร่สับปะรด ในพื้นที่ อ.ปราณบุรี ทางทิศตะวันตก ถึงแม้พื้นที่ดังกล่าวจะอยู่นอกเขตอุทยานฯกุยบุรีก็ตาม และมีข้อมูลว่าจุดที่ช้างล้มอยู่ในพื้นที่เขตปลอดภัยทางทหาร
“เรื่องพื้นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปตรวจสอบว่ามีการบุกรุกหรือไม่ สิ่งสำคัญวันนี้เราต้องช่วยกันที่จะทำอย่างไร ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชาวบ้านรอบพื้นที่อุทยานฯกุยบุรี ว่าในปัจจุบันสัตว์ป่ากำลังเพิ่มขึ้นป่ากำลังฟื้นฟู เพราะด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงเข้ามาพระราชทานแนวพระราชดำริในด้านต่างๆ
ดังนั้น ทั้งอุทยานฯ กุยบุรี จังหวัด อำเภอ ปกครองท้องถิ่น ชาวบ้าน ต้องร่วมกันเพื่อที่จะปกป้องผืนป่า ตลอดจนสัตว์ป่า ท่านหญิงไม่อยากเห็นปัญหาย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 อีกครั้ง ปัจจุบันช้างป่าในอุทยานฯกุยบุรี ขณะนี้ทราบว่ามีไม่ต่ำกว่า 200 ตัว และช่วงนี้ทางอุทยานฯ กุยบุรี คงต้องออกลาดตระเวนในพื้นที่รอยต่อระหว่างแนวเขตอุทยานฯเขตปลอดภัยทางทหาร และพื้นที่ชาวบ้านให้มากขึ้น ยิ่งช่วงนี้ทราบว่าสับปะรดกำลังจะได้เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้น ชาวไร่เค้าก็ต้องป้องกันไร่ของเค้า สิ่งสำคัญต้องให้ชาวไร่รู้จักคำว่าอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์สัตว์ป่าให้ได้”
ทางด้าน นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าปัญหาช้างป่าที่ถูกไฟฟ้าช็อตในพื้นที่นอกเขตอุทยานฯกุยบุรี จุดแถวบ้านลากล้อ ปราณบุรี ตนได้สั่งการให้ทางอุทยานฯ กุยบุรี ต้องเร่งเข้าไปประชาสัมพันธ์ ชาวบ้านและชาวไร่ในพื้นที่ดังกล่าวถึงการปล่อยกระแสไฟฟ้าป้องกันช้างป่าเข้ามากัดกินว่า ในการป้องกันที่ถูกต้องควรต้องใช้กระแสไฟที่ต่ำ แค่ช้างเข้ามาชนลวดไฟฟ้าและกลับออกไป ไม่ใช่ปล่อยกระแสไฟฟ้าเกินความจำเป็นจนทำให้ช้างป่าล้มได้ รวมไปถึงต่อไปเจ้าหน้าที่อุทยาฯกุยบุรี ก็ต้องออกลาดตระเวนคอยดูปัญหาช้างออกมาพื้นที่ไร่ของชาวบ้าน และหาทางร่วมมือกับเจ้าของไร่ตามจุดต่างๆที่ช้างป่าจะลงมา เพื่อช่วยกันขับไล่ด้วยวิธีอื่นๆ ปัญหาก็จะไม่เกิด
“ผมว่าวันนี้ปัญหาชาวบ้านกลับช้างป่าไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในส่วนของนายทุนที่ครอบครองพื้นที่ไร่สับปะรด”
นายวายุพงศ์ จิตร์วิจักษณ์ ผจก.โครงการอนุรักษ์ช้างป่า WWF ประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาคนกับช้าง ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่รุนแรงมากว่าการฆ่าช้างเพื่อเอางา ตนว่าสิ่งสำคัญต้องมารณรงค์การให้ความรู้ของเรื่องการใช้ลวดไฟฟ้า ว่าหากจะใช้ต้องใช้ไฟขนาดเท่าไหร่ไม่ใช่ใช้กันเต็มพิกัด สิ่งสำคัญต้องพยามประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าโทษคืออะไร เพราะโทษตามกฏหมายปรับไม่เกิน 25,000 บาท จำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ
“จุดนี้น่าจะทำให้คนเกิดความกลัวได้ ความผิดในฐานะที่ช้างป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม มาตรา 16 ใน พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ผู้ใดที่ล่าหรือทำให้สัตว์ตาย สัตว์ป่าคุ้มครอง เจตนาจงใจ ทั้งนี้ ทาง WWF ประเทศไทย จะสัมมนาเรื่องปัญหาคนกับช้างที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต โดยจะร่วมกับทางจังหวัดประจวบฯ อำเภอ กรมอุทยานฯ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สื่อมวลชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท.ที่อยู่รอบอุทยานฯ กุยบุรี ชาวบ้าน และสื่อมวลชน
รวมทั้งนักวิชาการ ที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของคนกับช้างกับปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างได้ในเบื้องต้น ซึ่งคาดว่าน่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าซึ่งจะได้ปรึกษาหารือกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ และส่วนต่างๆ ต่อไป”
ขณะเดียวกัน ช่วงสายที่ผ่านมานายฐิติวัชร์ เวโรจน์วัฒนา อายุ 29 ปี เจ้าของไร่สับปะรดที่ติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าได้เดินทางเข้ามอบตัวต่อ พ.ต.ท.เบญจรงค์ สุวรรณภาส พนักงานสอบสวน สภ.ปราณบุรี หลังจากนั้น ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ผิดตามข้อหาที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี เข้าแจ้งความในข้อหาพยามล่าหรือฆ่าสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ฯลฯ
และกล่าวอีกว่า ทำไร่สับปะรดอยู่แถบนั้นมานานแล้ว มีพื้นที่ปลูกสับปะรดอยู่ประมาณ 30 ไร่ และช้างป่าก็ลงมาบ่อยส่วนการป้องกันโดยใช้ลวดไฟฟ้าขึงรอบไร่ก็ทำมานานแล้วเช่นกัน ยืนยันว่า ไม่ได้ปล่อยกระแสไฟฟ้าสูงจนเกินความจำเป็นปล่อยตามปกติ ตนเองก็พยามย้ำกับคนงานที่เฝ้าไร่สับปะรดเสมอในการเปิดไฟฟ้าในช่วงกลางคืน
ด้านพนักงานสอบสอบ สภ.ปราณบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ไปพบกับนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอัยการจังหวัดเกี่ยวกับเรื่องคดีดังกล่าวและรายงานให้ทราบผลการสอบสวนไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ คงต้องสอบสวนต่อไปว่าจะต้องเชิญใครมาสอบเพิ่มเติมอีกหรือไม่ก่อนที่จะสรุปสำนวนให้อัยการเพื่อส่งฟ้องศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อไป