ตาก - ทส.เตรียมรองรับปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า ปี 55 หวั่นไฟป่าจากพม่าลุกลาม งัด 3 มาตรการเข้มตามแผนจัดการหมอกควันปี 54-59 ของกรมควบคุมมลพิษใช้จัดการในแล้งนี้
นายปัญญารัตน์ รังศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)จังหวัดตาก กล่าวถึงมาตรการการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าลุกลามของจังหวัดตาก ในปี พ.ศ.2555 ว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว สำนักงาน ทส.ตาก และฝ่ายปกครองจังหวัดได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยยึดกรอบแผนจัดการหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง ปี 2554-2559 ของกรมควบคุมมลพิษ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่ 1.การควบคุมการเผาในที่ชุมชน 2.การควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม และ 3.การควบคุมไฟป่า
การควบคุมการเผาในที่ชุมชนและการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมนั้น เนื่องจากข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการเกิดปัญหาหมอกควันของจังหวัดตาก แสดงให้เห็นว่า การเผาในพื้นที่ทั้งสองส่วน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน โดยการเผาในที่ชุมชนมักเป็นการเผาขยะ เศษกิ่งไม้ใบไม้
ส่วนการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมจะมีทั้งการเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและการเผาเศษวัสดุที่ได้จากการทำการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญ คือ การเผาไร่อ้อยก่อนเก็บเกี่ยวซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งฝุ่นละออง ควันไฟ ที่พบได้ในพื้นที่ซีกตะวันตกคือ อ.แม่สอด อ.พบพระ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมดูแลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา มักมีความเข้าใจว่าพื้นที่การเกษตร หรือในพื้นที่รอบนอกเป็นจุดหลักที่มีการเผา แต่ในความเป็นจริงการเผาในพื้นที่ชุมชนหรือตัวเมือง รวมไปถึงควันจากรถยนต์ หรือการปิ้งย่างทำอาหารก็ก่อให้เกิดปัญหาเช่นกัน ขณะที่ภาคการเกษตรก็มีวัสดุเหลือใช้จำนวนมากที่หากไม่มีการจัดการที่ดี เกษตรกรก็จะเลือกการเผาเพื่อทำลายมากกว่า
ผู้อำนวยการสำนักงาน ทส.ตาก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีของไฟป่านั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นสาเหตุหลักถึง 80% ของปัญหาหมอกควัน โดยในปัจจุบันก็ยังพบว่ามีการเผาที่เป็นการกระทำของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่ควรมีการเผาเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในส่วนนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการป้องกันและระงับไฟป่าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการประสานงานไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะถึงแม้จะสามารถดูแลไม่ให้จังหวัดตากเกิดปัญหาไฟป่า แต่หากมีไฟป่าในจังหวัดใกล้เคียง หรือในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับพม่า โดยเฉพาะแถบ อ.อุ้มผาง เนื่องจากมีพื้นที่ติดกันและเคยลุกลามข้ามมาเกือบจะทุกปี ก็มีผลกระทบกับจังหวัดตากด้วยเช่นกัน