xs
xsm
sm
md
lg

สพป.เขต 1 กาฬสินธุ์ชูอีสาน-โมเดล I-SAN พัฒนาเทคโนฯคู่พัฒนาสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาฬสินธุ์ - สำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษา หรือ สพป.เขต 1 กาฬสินธุ์ เปิดนโยบายการศึกษาแบบเครือข่าย อีสาน-โมเดล I-SAN ที่จะให้การศึกษาด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ธรรมชาติศึกษาและภูมิปัญญาศึกษา

วันนี้ (25 พ.ย.) ที่สำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กาฬสินธุ์ เขต 1 ดร.พจน์ เจริญ สันเทียะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1 ได้เปิดตัวโมเดลซึ่งเป็นนโยบายและแนวทางการพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นระบบเครือข่ายของเขตการศึกษาเขต 1 ที่มีสถานศึกษาในสังกัดทั้งหมด 188 แห่ง

ดร.พจน์ เจริญสันเทียะ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตการศึกษาการประถมศึกษา กาฬสินธุ์ เขต 1 กล่าวว่า คำว่าอีสาน-โมเดล จะเอาตัวภาษาอังกฤษ I-SAN มาให้นิยามกับการศึกษา ซึ่งทางสำนักงานเขตได้วางแนวทางและระบบการศึกษาให้สถานศึกษาทั้ง 188 แห่ง รวมเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทั้งนี้ การให้นิยามแต่ละตัวอักษรจะสื่อความหมายวางระบบโครงข่ายกระจายทั้งหมด

นอกเหนือจากที่ใช้อักษรภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีผญาอีสานเป็นคำจำกัดความแสดงถึงเอกลักษณ์ของคนอีสานที่ชัดเจนและสื่อการทำงานให้ชัดเจนอีกด้วย

สำหรับอักษร I คือ (INTERNATIONNAL) คือ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีค่านิยมพื้นฐานและมีคุณธรรมสากล และมีทักษะพื้นฐานการเรียนรู้และพัฒนาตนเองทักษะการทำงาน และการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและสังคมโลก ใช้ผญาอีสานกำกับคือ “คันบ่ออกจากบ้าน บ่เห็นด่านแดนไกล คันบ่ไปหาเฮียนกะบ่มีความฮู้” S หรือ SYSTEM คือคนอีสานต้องทำอะไรทุกอย่างอย่างเป็นระบบที่มีปรึกษาภูมิปัญญาเป็นหลักสำคัญ มีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีกลไกในการทำงาน มีภาพงาน หรือผังงาน ใช้ผญาอีสานที่ว่า “คันอยากได้คู่ซ้อนให้มีผู้ปรึกษาให้ค่อยปรึกษาขุนหมู่พงษ์พันธ์เชื้อ ให้ค่อยปรึกษาเถ้าขุนกวานพ่อแม่ ค้นเถ้าแก่บ่พร้อมเซาถ้อนอย่าเอา”

A หรือ ASSOCIATION คนอีสานต้องพึงพาอาศัยกันและกันในการดำรงตนในชีวิต คือ การบอกกล่าวให้ข้อมูลข่าวสารรับฟังความคิดเห็นของผู้หลักผู้ใหญ่มีสมาคมผู้เกี่ยวข้องร่วมมือทุกฝ่ายและเสริมเป็นกำลังใจให้กัน ดั่งผญาอีสานที่ว่า “เฮาอาศัยพวกพ้องน้องนุ่งสหายเกลอ เขาก็อาศัยเฮาจึงเป็นเมืองบ้านซู่คนซู่ได้อาศัยกันทุกหมู่บ่มีใผอยู่ยั้งทอนท้อผู้เดียว”

และสุดท้าย คือ N หรือ NATURAL “แสนสิมีความฮู้เต็มพุงเพียงปาก โตสอนโตบ่โตใผสิย้องว่าดี คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ค้นเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มสัปทน อย่าได้ลืมคนจนผู้แห่นำตีนซ้าง” บ่งบอกให้รู้ว่าคนอีสานนั้นเป็นผู้หนึ่งที่ได้ยึดมั่นถือมั่นในวิถีของตนเองมีจารีตประเพณี ฮีตสิบสองคองสิบสี่ ทำให้เป็นผู้มีจริยธรรมคุณธรรมสูง แม้ว่าจะมีความหลากหลายในกลุ่มชาติพันธุ์ก็ตาม

ดร.พจน์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับอีสานโมเดล ทางสำนักงานเขต 1 ได้ดำเนินการมาแล้ว ซึ่งเป็นผลดีกับโรงเรียนในเครือข่าย โรงเรียนที่งบน้อยขาดโอกาสหรืออยู่ห่างไกลจะมีพี่เลี้ยงทั้งสำนักงานเขตฯและโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียง

ส่วนผลที่น่าพอใจมากที่สุด คือ ผลการศึกษาของนักเรียนในสังกัดนั้นดีขึ้นเกือบเท่าตัว และผลสำรวจในกลุ่มครูเองก็น่าพอใจเพราะมีความสุขในการสอนมากขึ้น เพราะไม่ต้องบีบบังคับให้ปรับเปลี่ยนและให้มีการพัฒนาซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ใช้ผลมากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม อีสานโมเดล จ.กาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่นำร่องก่อนจากนั้นจะขยายผลไปสู่การศึกษาใน 20 จังหวัดภาคอีสานตามนโยบายการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาของนางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเน้นการพัฒนาการศึกษาเพื่อความพร้อมในการก้าวสู่อาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น