ฉะเชิงเทรา - โครงการพระองค์ไชยานุชิต แปดริ้ว แจง น้ำในพื้นที่ลดลง เพราะต้องสูบน้ำทิ้งทะเล หวังรองรับน้ำจากภาคกลาง และ กทม.เผย ชาวนาในพื้นที่ไม่ต้องหวั่นกลัวน้ำไม่มีปลูกข้าว ชี้ พื้นที่ทางตอนเหนือยังมีน้ำอีกกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.สามารถทำนาได้อีกนานถึงปลายปี
วันนี้ (24 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าพบ นายสมชาย คณาประเสริฐกุล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา พระองค์ไชยานุชิต เพื่อติดตามค้นหาข้อมูลของการระบายน้ำในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากชาวบ้านด้านฝั่งขวาของลำน้ำบางปะกง ซึ่งประกอบ อาชีพในภาคเกษตรกรรม หวั่นเกรงว่าจะไม่มีน้ำทำนา เนื่องจากน้ำในลำคลองเกือบทุกสาย ในโครงการได้ถูกระดมสูบออกทิ้งทะเล เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากกลุ่มจังหวัดทางภาคกลางซึ่งอยู่เหนือจาก จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นไป รวมถึงกรุงเทพมหานครที่ยังถูกน้ำท่วมขังอยู่ จนทำให้น้ำในพื้นที่เหือดแห้งหายไปจนหมดเกินกว่าครึ่งหนึ่งของลำคลองแล้วนั้น
แต่ไม่พบตัว เนื่องจากติดไปราชการเพื่อเข้าร่วมประชุมอยู่ใน กทม.แต่มี นายพร วินโกมินทร์ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการพระองค์ฯ ไชยานุชิต กล่าวชี้แจงจึงวิธีการระบายน้ำ ว่า ขอให้ชาวนาในพื้นที่เร่งทำนาได้เลยในขณะนี้ และไม่ต้องกลัวว่าจะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากยังมีน้ำที่ยังขังอยู่ในจังหวัดทางภาคกลางด้านฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างอยู่ในปริมาณมากกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.และจะมีน้ำให้ชาวนา ได้ทำนาไปจนถึงสิ้นปีนี้
สำหรับน้ำในลำคลองต่างๆของโครงการ ที่มองเห็นว่าแข้งขอดหายไปนั้น มีสาเหตุจากการระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำทางตอนเหนือของโครงการ ต้องระบายน้ำลงมาให้ได้ไม่ทันต่อขีดความสามารถในการสูบน้ำออกทิ้งทะเลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิตที่มีเครื่องสูบน้ำหลักขนาดใหญ่ (3 ลบ.ม./วินาที) ระดมสูบอยู่ จำนวนกว่า 27 เครื่อง จึงมีศักยภาพในการระบายน้ำที่สูงกว่าสถานีสูบน้ำต่างๆ ที่จะระบายน้ำลงมาให้ จึงทำให้น้ำถูกระบายมานั้น มีปริมาณที่น้อยกว่าการสูบออกจึงทำให้ลำคลองทุกสายแห้งลง
นายพร กล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะลำคลองที่อยู่ในพื้นที่สูงทางด้านสถานีสูบน้ำบางขนาก และประตูน้ำต่างๆ เลียบชายแม่น้ำบางปะกงตอนบนนั้น ไม่มีน้ำไหลขึ้นไปถึง เพราะมีความลาดเอียงในระดับความสูง ที่แตกต่างกันถึงกว่า 50 ซม.น้ำจึงไม่ยอมไหลขึ้นไป แต่ขณะเดียวกัน ทางโครงการยังได้ทำการเร่งระดมสูบน้ำออกทิ้งทะเลให้อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยสถานการณ์น้ำท่วมใน กทม.และทางปทุมธานีอยู่ตลอดเวลาที่บริเวณสถานีสูบน้ำทางตอนล่าง มากถึงวันละกว่า 12 ล้าน ลบ.ม.จากภาวะปกติจะสามารถระบายได้อยู่ที่ 8 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้เครื่องสูบน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการสูบระบายออก ส่วนเครื่องสูบน้ำที่ถูกเก็บหายไปจากตามประตูระบายน้ำต่างๆ นั้น เป็นเพียงเครื่องสูบน้ำส่วนของทางจังหวัดฉะเชิงเทรา เท่านั้น
นายพร กล่าวว่า ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นของกลุ่มมวลชนชาวบ้านที่ต้องการบุกรื้อบิ๊กแบ็ก หรือเปิดขยายประตูระบายน้ำต่างๆ ที่กั้นไม่ให้น้ำไหลเข้า กทม.เหนือจากโครงการขึ้นไป ทางรอยต่อของ จ.ปทุมธานี และ กทม.นั้น หากยิ่งเปิดยิ่งรื้อก็จะยิ่งเสียหายและเกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำจะไหลลงมาสู่ในตัวเมืองกรุงเทพฯ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชนเมือง โดยเฉพาะชาวสายไหม คลองสามวา และชาวลำลูกกา ด้วย
“ทางที่ดีควรจะหาทางเร่งระบาย หรือผลักให้น้ำไหลลงมาทางฝั่งตะวันออกให้มากที่สุดน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะจะเกิดความเสียหายน้อยที่สุดส่วนปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการระบายมาทางด้านนี้นั้น ต้องไปสอบถามจากทางส่วนกลางเนื่องจากอยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของโครงการพระองค์ไชยานุชิต” นายพร กล่าว