เชียงราย - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเวทีถกนโยบายเศรษฐกิจจีนที่มีผลต่อไทย ดึง “กร ทัพพะรังสี” ขึ้นเวที ชี้วันนี้ต้องจับตาอเมริกาบุกอาเซียน เกาะติดปมพม่าทิ้งจีน สั่งรื้อโครงการท่อน้ำมัน-ก๊าซ 1,500 กม.จากอ่าวเมาะตะมะ-หยุนหนัน ทั้งที่จีนทุ่มทุนไปแล้วหลายพันล้าน หวั่นคดียิงเรือจีนกลางน้ำโขงกระทบสัมพันธ์ไทยในระยะยาว
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ห้องเชียงแสน อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) อ.เมือง จ.เชียงราย ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และสถาบันขงจื้อ มฟล.ได้จัดปาฐกถาพิเศษ “นโยบายเศรษฐกิจจีนที่มีผลกระทบต่อธุรกิจไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนา 13 ปี มฟล. ในปี 2554 โดยมีนายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ร่วมบรรยายพิเศษ มีประชาชนทั่วไป และนักศึกษาเข้ารับฟังประมาณ 100 คน
นายกรได้เล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ว่า มีมาเกือบพันปีและพัฒนาเรื่อยมาจนปัจจุบันมีช่องทางติดต่อทั้งที่เป็นทางการ และผ่านทางองค์กรสมาคม โดยเฉพาะสมาคมมิตรภายไทย-จีน ซึ่งความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุดมีมาตั้งแต่ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน หรือเอฟทีเอ เมื่อปี 2546 เป็นต้นมาและขยายไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ กระทั่งเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ
เฉพาะกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องคือไทย-จีน ก็มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และไทย-อินเดีย มีประชากร 1,300 ล้านคน ส่วน 10 ประเทศอาเซียนมีประชากรกว่า 400 ล้านคน จึงถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกที่มีตลาดรวมกันกว่า 3,000 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งโลก
ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจปีละประมาณ 10% และในปี 2555 นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารประเทศจากชุดที่มีนายหู จิ่น เทา เป็นประธานาธิบดีและนายเหวิน เจีย เป่า เป็นนายกรัฐมนตรี ไปสู่คนยุคใหม่ ซึ่งกำหนดให้นายฉี่ จิ้น ผิง และนายหลี่ เก้อ เจียง เป็นคณะผู้บริหารใหม่
นายกร บอกว่า สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยต้องศึกษาและรู้ข้อมูล เพื่อให้สามารถร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ที่มีรูปแบบการบริหารจากบนลงล่างดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกรบอกว่า จีนเน้นนโยบายทางการเมืองเป็นตัวตั้ง และบริหารแบบบนลงล่าง โดยมีตัวอย่างเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน เมื่อตนได้ติดตาม พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี ไปเจรจาขอซื้อน้ำมันดีเซลจากจีน 200,000 ตันในราคามิตรภาพ เพราะประเทศไทยขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งนายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน ได้ตอบตกลงและหารือกับที่ปรึกษาเกี่ยวกับราคามิตรภาพดังกล่าว เมื่อไม่ได้ข้อยุติโดยเร็วนายกรัฐมนตรีจีน ก็ยุติเรื่องด้วยการตอบตกลงขายให้ โดยให้ประเทศไทยไปกำหนดราคาเอาเองด้วย ซึ่งระบบการบริหารงานแตกต่างจากไทย ที่จะนำเสนอผ่านหน่วยงานย่อยต่างๆ ขึ้นไปจนถึงระดับรัฐมนตรีตามขั้นตอน
แตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของคณะผู้บริหารประเทศที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ล่าสุดรัฐบาลที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พบประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก เมื่อมีคนมาถามตนว่ากรณีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นนี้จะไปถามข้อมูลจากใคร เมื่อตนตอบให้ไปถามรัฐบาล เขาก็ถามกลับในทำนองไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะมีอายุอยู่เกินต้นปีหน้าหรือไม่
“ล่าสุดมีข่าวนักธุรกิจญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนาม หลัง 7 นิคมอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วมหนัก เพื่อนของตนที่เป็นนักธุรกิจญี่ปุ่นระบุหากเขาย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามเขามีความมั่นใจว่าปีหน้าจะมีคณะผู้บริหารประเทศชุดเดิมแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนไทย-จีน ก็ยังคงมีการลงทุนย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีกลุ่มทุนไทยที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนในจีนหลายกลุ่ม เช่น กระทิงแดงของกลุ่มนายเหยียน ปิน คนสองสัญชาติไทย-จีน ซึ่งรวยเป็นอันดับ 4 ในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกลุ่มน้ำตาลมิตรผล
นายกร ระบุว่า อนาคตตนอยากให้ประเทศไทยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่ม GMS (Mekong Greater Sub region) มากกว่ากลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เพราะกลุ่ม GMS ประกอบด้วยจีน ไทย พม่า สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งจีนมีสิทธิ์ในการเข้าประชุมได้โดยตรงไม่ต้องรับเชิญ ส่วนกลุ่มอาเซียน ซึ่งแม้จะมีอาเซียนบวก 1 คือบวกจีน แต่จีนก็เป็นเพียงประเทศที่ได้รับเชิญเท่านั้น จึงควรให้ความสำคัญ GMS มากที่สุด เพราะจะช่วยสร้างประโยชน์ให้ไทยได้มาก
สำหรับข้อสังเกตในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับไทย-จีน คือ การกลับมามีบทบาทของประเทศสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคอาเซียน - ทะเลจีนใต้อีกครั้ง และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับจีนผิดแผกไปจากเดิม โดยเมื่อเดือนตุลาคม 54 ที่ผ่านมา ประเทศพม่าซึ่งมีการเลือกตั้งและมีประธานาธิบดีปกครองประเทศแล้ว ได้ยกเลิกโครงการท่อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ 2 ท่อจากอ่าวเมาะตะมะผ่านพม่าไปยังมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ระยะทาง 1,500 กิโลเมตร หลังจากที่จีนลงทุนกับโครงการนี้ไปแล้วประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของโครงการด้วยเงินทุนหลายพันล้านบาท
เหตุการณ์นี้ทำให้ทางการจีนต้องตกตะลึงในเรื่องนี้ เพราะจีนคอยอุ้มชูพม่ามาโดยตลอด ในช่วงที่ถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตร แต่ล่าสุดพม่ากลับจะเชิญนางฮิลลาลี คลินตัน รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไปเยือนด้วย
ในส่วนของประเทศไทย ก็พบมีเหตุการณ์ยิงลูกเรือจีน 2 ลำในแม่น้ำโขงจนเสียชีวิต 13 ศพ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทางการจีนมาก จึงทวงถามหาเหตุผลว่า เหตุใดจึงมีการฆ่าลูกเรือจีนและใครเป็นผู้สั่งการ ซึ่งเรื่องนี้ตนคงจะถูกถามไถ่ในเวลาต่างๆ จากทางการจีนในเร็วๆ นี้ และตนก็ยังไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไรดีด้วย
ในด้านกลุ่มทุนไทยคือกลุ่มอิตัลไทย ที่ไปลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย ประเทศพม่า ก็กำลังจับตามองสถานการณ์เพราะโครงการนี้เป็นท่าเรือใหญ่ที่มีถนนเชื่อมกับ จ.กาญจนบุรี ที่อยู่ห่างกันประมาณ 150 กิโลเมตร ซึ่งหากสำเร็จจะย่นระยะทางการขนส่งสินค้าไทยทางฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้มากขึ้น แทนการขนส่งอ้อมไปทางท่าเรือประเทศสิงคโปร์