xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมกระทบผลผลิตข้าวอีสานลด 3.2 แสนตัน ชี้แนวโน้มโรงงานย้ายฐานผลิตเข้าอีสานชัดขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีแถลงเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ปี 2554 ณ บ้านรับรอง ธปท.สภอ.
ศูนย์ข่าวขอนแก่น -น้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจอีสานไม่มาก ธปท.อีสาน เผยพื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วม 4.5 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว คาดเสียหาย 4.3 ล้านไร่ หรือร้อยละ 8.1 ของพื้นที่เพาะปลูก คาด ผลผลิตข้าวลดฮวบกว่า 3.2 แสนตัน มูลค่าเสียหายกว่า 2.8-4.1 พันล้านบาท ด้านภาคอุตสาหกรรมเจอกระทบทางอ้อม โรงงานขาดวัตถุดิบป้อนต้องหยุดผลิต 15 แห่ง ชี้แนวโน้มโรงงานย้ายฐานผลิตลงทุนในอีสานเด่นชัดขึ้น แนะจ.ขอนแก่นเตรียมแรงงานคุณภาพ พัฒนาระบบสาธารณูปโภครองรับ

วันนี้ (2 พ.ย.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจครั้งที่ 4/2554 โดยมี ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. พร้อมนายธเนศชัย อังวราวงศ์ ผู้อำนวย ธปท.สภอ.และผู้บริหารส่วนงานต่างๆ ร่วมแถลงข่าว ณ บ้านรับรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ริมบึงแก่นนคร ขอนแก่น

ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.เปิดเผยว่า กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจภาคอีสานว่า ภาคอีสานมีพื้นที่ประสบภัย 4.5 ล้านไร่ คาดว่าจะเสียหาย 4.3 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 8.1 ของพื้นที่เพาะปลูก ส่วนใหญ่เป็นที่นา 3.9 ล้านไร่ ร้อยละ 89 ของพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย ที่ไร่ 0.4 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวอีสานลดลงประมาณ 295,000-320,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 2.8-4.1 พันล้านบาท

ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในภาคอีสานนั้น จะได้รับผลกระทบทางอ้อม จากโรงงานที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง ไม่สามารถจัดส่งวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานผลิตในภาคอีสานได้ มีโรงงานอย่างน้อย 15 โรงงานต้องหยุดผลิตชั่วคราว กระทบต่อแรงงานประมาณ 8,500 คน ซึ่งผลกระทบโดยตรงนั้นเสียหายไม่มาก อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่อุตสาหกรรมบางแห่ง อาจได้รับผลดีจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากการผลิตทดแทนโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมในภาคกลาง

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.กล่าวต่อว่า ที่น่าสนใจ การย้ายฐานการผลิตเข้ามายังจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอื่นในภาคอีสาน เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมใหญ่ เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมภาคกลางรุนแรงขึ้น ทำให้กระแสการย้ายฐานผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมมีความเด่นชัดขึ้น มีแนวโน้มที่โรงงานต่างๆ จะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในจังหวัดขอนแก่นมากขึ้น

โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้นักลงทุนสนใจย้ายฐานผลิตเข้ามาในพื้นที่ภาคอีสานประกอบด้วย โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ เบื้องต้นจังหวัดขอนแก่นมีแผนผลักดันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว รองรับการลงทุนย้ายฐานการผลิต แต่จังหวัดขอนแก่นจะต้องเตรียมแรงงานฝีมือในจำนวนที่มากพอรองรับการผลิต ทั้งต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การจัดวางผังเมือง-สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้

ดร.พิชิต กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ว่า เศรษฐกิจอีสานขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจาก รายได้เกษตรกรลดลงตามราคาสินค้าเกษตรหลัก ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวเปลือกเหนียว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวตามภาคการผลิตเบียร์ เนื่องจากมีการเร่งผลิตก่อนหน้า และอุตสาหกรรมกระดาษปิดซ่อมโรงงาน

ส่วนด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวน้อยกว่าไตรมาสก่อน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจดทะเบียนรถยนต์ที่ขยายตัวน้อยกว่าไตรมาสก่อน แต่การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการค้าชายแดนไทย-ลาว ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 50.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและนำเข้า ส่วนการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.7 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออก

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจอีสาน ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่า เศรษฐกิจอีสานจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบของน้ำท่วม และภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว


ดร.พิชิต ภัทรวิมลพร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.

กำลังโหลดความคิดเห็น