นายกฯ เปิดศูนย์บัญชาการ “จำนำข้าว” ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ควบคุมข้อมูลทั่วประเทศแบบ “เรียลไทม์” เข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน “ปู” โชว์คอนเฟอเรนซ์สั่งการผู้ว่าฯ กำชับทุกฝ่ายปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และเน้นความโปร่งใส
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเปิดศูนย์บริหารจัดการโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรตามนโยบายรัฐบาล (Operation Room) ที่กระทรวงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงาน ติดตาม ประเมิน และรายงานผล รวมทั้งเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งระบบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การทำงานของศูนย์จะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน เน้นการวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญตามมาตรการรับจำนำจากส่วนภูมิภาคเข้าสู่ส่วนกลางผ่านทางระบบเครือข่าย มาประมวลผลและนำเสนอได้ในลักษณะ Real Time ทำให้ข้อมูลที่ได้รับรวดเร็วเป็นปัจจุบันและทันการณ์ สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
ศูนย์ดังกล่าวแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ห้อง ดังนี้ 1) Operation Room 1 ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการลักษณะภาพรวมทั้งประเทศและรายจังหวัด มี 2 ส่วน คือ การบันทึกข้อมูลราคาข้าวเปลือกรายวัน ปริมาณผลผลิต การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวนโรงสี/ตลาดกลาง คลังกลางที่เข้าร่วมโครงการ และรายงานข้อมูล ปริมาณรับจำนำรายวัน การสีแปรสภาพข้าวเปลือก ปริมาณข้าวสารในคลังกลาง
2) Operation Room 2 ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการตรวจสอบและกำกับดูแลการดำเนินงาน โดยมีรายละเอียดของแต่ละโรงสี/ตลาดกลาง และคลังกลางที่เก็บข้าวสาร เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา
และ 3) Control Room วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากห้อง Operation Room 1 และ Operation Room 2 ในเชิงเปรียบเทียบและนำเสนอผู้บริหารเพื่อใช้ในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา ใช้ในการบริหารจัดการ มอบหมายนโยบาย สั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาในระดับภาพรวมทั้งประเทศและระดับจังหวัด ด้วยระบบ video conference
นอกจากนี้ การดำเนินการของศูนย์ยังจะครอบคลุมสินค้าเกษตรที่รัฐบาลจะดำเนินการรับจำนำอื่นๆ เช่น หัวมันสำปะหลังสด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการรับจำนำ อีกทั้งเป็นห้องที่จัดเก็บข้อมูลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการติดตามทุกสัปดาห์จากทุกจังหวัด รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการกำกับดูแล
โดยวันนี้ เป็นวันแรกที่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูการผลิตปี 54/55 พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการ จ.นนทบุรี, จ.นครสวรรค์ และ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยกล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสบายใจแก่เกษตรกร จึงอยากฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินงานในโครงการรับจำนำอย่างดีที่สุด และที่สำคัญต้องมีความถูกต้อง ยุติธรรม
ทั้งนี้ ยอมรับว่า โครงการรับจำนำในรอบนี้อาจทำให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการมีความยุ่งยากในขั้นตอนการปฏิบัติ เพราะรัฐบาลได้ปรับปรุงขั้นตอนเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการให้กระบวนการรับจำนำข้าวในครั้งนี้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังได้ฝากให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ รวมทั้งกรมการค้าภายในช่วยตรวจสอบด้วยว่าในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีนี้ ยังมีสิ่งใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม
พร้อมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยว ตลอดจนเจ้าของโรงสีที่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำฯกับภาครัฐดูแลปกป้องผลโยชน์ทั้งในส่วนของเกษตรกรและภาครัฐ
ด้าน นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรีมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในฤดูการผลิตนาปี 2554/55 จำนวน 112,387 ไร่ เสียหายจากน้ำท่วม จำนวน 1,700 ไร่ เหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 110,687 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยออกสู่ตลาดจำนวน 86,114.48 ตัน ทั้งนี้โรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 มีจำนวน 8 ราย โดยเป็นของอำเภอไทรน้อย จำนวน 7 ราย และอำเภอบางบัวทอง จำนวน 1 ราย ซึ่งโรงสีข้าวทั้ง 8 รายนั้นได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองโรงสีที่เข้าร่วมโครงการฯเรียบร้อยแล้ว โดยจัดเกรดโรงสีเป็นเกรด A ส่วนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการในอำเภอไทรน้อยจะเปิดจุดรับจำนำจำนวน 3 ราย คือ โรงสีศรีพัฒนาพาณิชย์ โรงสีขุนศรี และโรงสีสุขศิริพานิช
นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ในฤดูการผลิต 2554/55 จังหวัดมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว 2,155,000 กว่าไร่ เสียหายจากน้ำท่วม 753,598 ไร่ เหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1,402,000 กว่าไร่ และคาดว่า ผลผลิตเฉลี่ยที่จะออกสู่ตลาดและเข้าสู่กระบวนการรับจำนำได้จำนวน 743,000-10,000,000 ตัน ทั้งนี้มีโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 มีจำนวน 48 ราย ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองโรงสีที่เข้าร่วมโครงการฯเรียบร้อยแล้ว จำนวน 25 ราย
ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้ในวันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการเริ่มต้นโครงการ จำนวน 9 ราย คือ โรงสีข้าวที่อยู่ในอำเภอบรรพตพิสัย จำนวน 2 ราย อำเภอเก้าเลี้ยว จำนวน 1 ราย อำเภอไพศาลี จำนวน 1 ราย อำเภอตาคลี จำนวน 1 ราย อำเภอพยุหะคีรี จำนวน 1 ราย และอำเภอท่าตะโก จำนวน 3 ราย ส่วนโรงสีข้าวจำนวนที่เหลือซึ่งผ่านการรับรองนั้นก็จะทยอยเปิดต่อไป ขณะเดียวกันการเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 วันแรกวันนี้ มีเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการเพื่อรอจำนำข้าวเปลือก จำนวน 25 ราย