ศูนย์ข่าวศรีราชา - รพ.สมิติเวชศรีราชา ส่งยาเวชภัณฑ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมให้ความช่วยเหลือการรักษาผู้ประสบภัยย้ายมารับการรักษา โดยสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้วันละประมาณ 1,000 คน
นายแพทย์นพดล นพคุณ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา เผยว่า ในขณะนี้ในหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย และปัญหาสุขภาพ ซึ่งทางโรงพยาบาลรู้สึกห่วงใยและอยากให้คนไทยทุกคนเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันตัวเองจากวิกฤตการณ์น้ำท่วม ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบมากที่สุดในตอนนี้
โรงพยาบาลได้ตระหนักในเรื่องกล่าวจึงได้จัดกิจกรรม การส่วนเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งการช่วยเหลือเป็น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.การส่งความช่วยเหลือไปสถานที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม โดยโรงพยาบาลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งยาเวชภัณฑ์ อาหารน้ำดื่มตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆไปยังพื้นที่ประสบภัยหลายแห่ง โดยตั้งจุดรับบริจาคของใช้ที่จำเป็น และจุดรับบริจาคเงิน ณ บริเวณโถง OPD เพื่อเป็นสื่อกลาง ในการนำไปมอบต่อให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
พร้อมทั้งร่วมบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยที่ประสบภัยน้ำท่วม ในโครงการ “เปิดท้ายร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม” ที่หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา ร่วมบริจาคสิ่งของจำเป็น ร่วมกับมูลนิธิสว่างประธีปธรรมสถาน สมาคมสื่อมวลชน ศรีราชา เพื่อนำไปมอบที่ อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ร่วมแพกถุงยังชีพ : ร่วมกับมูลนิธิสว่างประธีปธรรมสถาน เพื่อนำไปกับผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ส่วนที่ 2 คือ การให้การช่วยเหลือกรณีการให้การรักษาผู้ประสบภัย ย้ายมารับการรักษาที่ รพ. สมิติเวชศรีราชาซึ่งถือว่า เป็นประเด็นสำคัญมากอีกประเด็นที่หลายๆ คนอาจจะคิดไม่ถึง ว่าเป็นความเร่งด่วนต่อชีวิตการให้การช่วยเหลือจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบทั่วถึง คือการคงไว้ซึ่งการบริการของผู้ใช้บริการในพื้นที่ และการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ย้ายมาจากสถานที่ต่างๆ
ทั้งนี้ ความสามารถของ รพ.สมิติเวชศรีราชา สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้วันละกว่า 1,000 รายผู้ป่วยใน 120 เตียง ผู้ป่วยล้างไตวันละประมาณ 40 ราย และมีอัตราการหนุนเวียนของผู้ป่วยในประมาณวันละ 35- 40ราย ซึ่งเราจำเป็นต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เนื่องจากในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยมารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในอยู่ทุกวันเฉลี่ยวันละ 30-40 ราย อยู่แล้ว โดยในช่วงเวลานี้จะมีผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะย้ายมาจากกรุงเทพฯ อีกประมาณ 50-60 ราย ซึ่งว่าถือเป็นหน้าที่อันหนักหน่วงของโรงพยาบาลฯ แต่อย่างไรก็ตาม เราพยายามจะให้การช่วยเหลือทุกๆฝ่ายอย่างเต็มความสามารถ
นอกจากนี้ การจัดการยาเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอต่อความจำเป็นในการรักษาพยาบาลตลอดระยะเวลาที่คาดว่าปัญหาจะยังคงอยู่ ซึ่งน่าจะประมาณ 60 วัน เป็นอย่างน้อย ทุกๆอย่างเป็นปัญหาที่ต้องวางแผน และต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกๆวัน ซึ่งปัญหาหลายประการอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เช่น น้ำเกลือล้างไต กระดาษชำระ น้ำดื่ม อื่นๆ อีกหลายประเด็นอยู่เหนือการควบคุมของเรา รวมถึงการการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในทุกๆ สาขาวิชา
ในขณะนี้ภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลทุกๆ ท่านอยู่ในสภาพที่ overload หรือเกินกำลังที่เราจะให้บริการที่ดีสมบูรณ์ได้ 100% หลายๆ ส่วนเริ่มอ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้บริหารโรงพยาบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ แต่อย่างไรก็ตามทุกๆ คนยังต้องการการพักผ่อนที่เหมาะสม เพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีของสมิติเวช เรามีการจัดอัตรากำลังกันใหม่ในช่วงเวลานี้ เพื่อความเหมาะสมในแต่ละวัน
นายแพทย์นพดลกล่าวต่อไปว่า การบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในโรงพยาบาลเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริการ เช่น สถานที่จอดรถของผู้ป่วยและญาติตลอดจนเจ้าหน้าที่ ซึ่งประสบปัญหาการไม่เพียงพอในการให้บริการ, อาหารน้ำดื่มต่างๆเราบริหารจัดการโดยการเพิ่มอัตรากำลังในการบริการให้มากขึ้น และทำให้เวลารอในการมาตรวจในโรงพยาบาลน่อยลงเพื่อจะได้หมุนเวียนได้ดีขึ้น การบริหารความคาดหวังของผู้ใช้บริการในกลุ่มต่างๆ ซึ่งยากลำบากอย่างยิ่ง เนื่องจากหลายๆ รายไม่เคยมาใช้บริการที่สมิติเวชศรีราชาแต่อย่างไรก็ดี ทางทีมพยาบาลและผู้ตรวจการพยาบาลก็จัดการได้อย่างเป็นระบบอย่างน่าพอใจ
แต่เรื่องที่เป็นกังวล คือ ผู้ป่วยล้างไต เด็กแรกคลอด ที่เจ็บป่วยผู้ป่วยหนักผู้ที่ต้องรับการรักษา โดยการผ่าตัดและผู้ตั้งครรภ์ใกล้คลอด ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรอไม่ได้แต่ทางโรงพยาบาลก็มีขีดจำกัดในการให้บริการ แต่ทางเราก็จะพยายามให้การบริการรักษาพยาบาลอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การรักษาพยาบาลกับพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนอย่างดี ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน