ศูนย์ข่าวศรีราชา - สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมเปิดรับแรงงานอพยพจากภัยน้ำท่วมเข้าทำงานในระบบการผลิตที่มีอยู่ในโรงงานต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 3 พันอัตรา และคาดว่า นิคมอุตสาหกรรมอื่นๆในจังหวัดยังคงต้องการแรงงานป้อนระบบการผลิตอีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ การผลิตมาม่าป้อนความต้องการของตลาดในแต่ละวันของโรงงานที่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดลำพูน สูงถึง 6.5 ล้านชิ้นแล้ว
นายทนง ศรีจิตร์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นฐานผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคและอุปโภคและฐานผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกแหล่งใหญ่ของเครือสหพัฒน์ เผยว่าขณะนี้ชมรมบริหารงานบุคคลเครือสหพัฒน์ ได้ร่วมกับแรงงานจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานราชการในพื้นที่ ประชุมร่วมกันเพื่อประสานการทำงานในการเปิดรับแรงงานอพยพจากภัยน้ำท่วมที่ต้องหยุดงานจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมหมด
รวมถึงแรงงานที่ต้องอพยพหนีภัยน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้ามาในจังหวัดชลบุรี โดยขณะนี้โรงงานต่างๆ ที่มีอยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์หลายแห่ง ได้เริ่มติดป้ายประกาศรับสมัครแรงงานเพื่อป้อนกระบวนการผลิตแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 พันอัตรา
นอกจากนั้น ยังคาดว่า นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดชลบุรี ทั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และในเครือ รวมทั้งนิคมฯปิ่นทอง และนิคมฯต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง ยังคงมีความต้องการแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นจังหวัดหวะดีของกลุ่มแรงงานที่ต้องหยุดงานจากภัยน้ำท่วม ที่จะมีโอกาสได้ทำงาน แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงก็คือเรื่องที่พัก สำหรับรองรับแรงงานเหล่านี้
“โรงงานที่เข้ามาเปิดดำเนินการในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ มีการผลิตในทุกประเภท โดยเฉพาะโรงงานผลิตมาม่า ที่ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชาขณะนี้ ยังคงมีความต้องการแรงงานเพิ่มอีกกว่า 100 อัตรา เนื่องจากเราต้องทำงานถึง 3 กะติดต่อกันมานาน 2 เดือนแล้วตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ระบบการผลิตของเราไม่มีปัญหา เพราะมีวัตถุดิบสต๊อกไว้เยอะ แต่ปัญหาที่เจอก็คือการกระจายสินค้า เพราะศูนย์กระจายสินค้าที่มีถูกน้ำท่วมหมด ทำให้ในวันนี้เราต้องกลายมาเป็นจัดจำหน่ายเอง จึงมองเหมือนว่า สินค้าขาดตลาดแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะกำลังผลิตมาม่าใน 3 โรงงานที่ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดลำพูนขณะนี้ต่อวันมีมากถึง 6.5 ล้านชิ้น”
นายทนง ยังเผยอีกว่าจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดอยุธยา และปทุมธานี ทำให้นักลงทุนต่างชาติหลายรายเริ่มมองหาพื้นที่ตั้งโรงงานใหม่ ซึ่งในส่วนของสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ฯศรีราชา ก็มีแผนที่จะขยายพื้นที่โรงงานเพื่อรองรับเช่นกัน แต่เนื่องจากพื้นที่ในอำเภอศรีราชาเหลือไม่มากแล้วจึงอาจรองรับได้ไม่มาก แต่สำหรับสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ฯ กบินทร์บุรี และลำพูน ยังสามารถรองรับการเข้ามาของโรงงานต่างๆ ได้อีกกว่าพันไร่ต่อแห่ง โดยจะผลิตการเข้ามาของผู้ผลิตสินค้าที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ