แพร่ - ชาวบ้านแก่งเสือเต้น บริจาคช่วยน้ำท่วมกว่า 100,000 บาท ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ปลัดจังหวัด นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอสละเงินเดือนช่วยน้ำท่วม ขณะที่วางมาตรการแก้ปัญหาป่าถูกทำลายระยะยาว ชาวสะเอียบเชิญช่วยประชาชนในลุ่มน้ำยมจับเข่าคุยประเมินสถานการณ์ และหาทางออกอย่างยั่งยืน
วันนี้ (26 ต.ค.) ชาวบ้านใน ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแยังกรณีสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม นำโดยนายชุม สะเอียบคง นายก อบต.สะเอียบ, นายเส็ง ขวัญยืน กำนัน ต.สะเอียบ พร้อมเครือข่ายต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ได้รวมตัวกันนำเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งมอบให้ นายเชาวลิตร เมฆจำเริญ ปลัดจังหวัดแพร่ ที่เดินทางไปรับถึงหมู่บ้าน เพื่อมอบให้กับ ศปภ.ต่อไป
โดยเงินบริจาคดังกล่าว กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.สะเอียบ บริเวณที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ร่วมกันบริจาคมาตั้งแต่ 20 ต.ค.54 ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 150,800 บาท และจากวันนี้ (29 ต.ค.) ไปจนถึง 9 พ.ย.54 ก็ยังจะเปิดรับบริจาคเพิ่มเติมอีก เพื่อนำเงินส่งมอบให้กับโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อใช้ในกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกทางหนึ่งด้วย
นายเชาวลิตร เมฆจำเริญ ปลัดจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จังหวัดแพร่ได้รวบรวมเงินได้ ณ ปัจจุบันที่ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นเงินถึง 2 ล้านบาทเศษแล้ว โดยผู้บริหารระดับจังหวัด นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอ ปลัดจังหวัดแพร่ รองผู้ว่าราชการ 2 ท่าน และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมใจกันส่งมอบเงินเดือนของตนเองเดือนนี้บริจาคช่วยน้ำท่วมด้วย และนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จะเดินทางไปมอบให้กับ ศปภ.ด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม นายเชาวลิตร กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า แพร่ถือเป็นต้นน้ำสำคัญและมีส่วนที่ไปท่วม กทม.ปัจจุบัน โดยมีสถิติฝนตกมาตั้งแต่ 13 มีนาคม 54 รวมถึง 7 เดือนเต็ม ส่งผลให้แพร่มีน้ำท่วม 3-4 ครั้งติดต่อกัน แต่ความรุนแรงยังน้อยกว่าใน กทม.เพราะที่ กทม.กินบริเวณกว้างมาก สาเหตุสำคัญคือจังหวัดต้นน้ำมีการทำลายป่าอย่างรุนแรง จนไม่มีพื้นที่ซับน้ำ ทำให้น้ำไหลลงส่วนกลางจำนวนมาก
แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ได้เน้นให้มีการฟื้นฟูป่าและรณรงค์ให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับป่าไม้มากขึ้น
ด้าน นายเส็ง ขวัญยืน กำนัน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เปิดเผยว่า เครือข่ายทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ได้หารือและวิเคราะห์สถานการณ์พบว่า ลุ่มน้ำยมมีส่วนในการทำให้น้ำท่วม รุนแรงครั้งนี้ แต่ไม่ใช่ตัวการสำคัญมากเท่ากับลุ่มน้ำที่มีเขื่อนอยู่ แนวทางแก้วิกฤตครั้งนี้ คนในลุ่มน้ำยมทุกๆ จังหวัดต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน นั่งจับเข่าคุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาระยะยาวได้แล้ว เพราะเราจะต้องเผชิญน้ำท่วมและน้ำแล้ง ต่อเนื่องกันไป ทางออกที่ดีที่สุดคงต้องเป็นเวทีพูดคุยจนเห็นร่วมกันพร้อมทั้งให้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อนที่จะดำเนินการใดๆ