xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมแล้ว(ใคร?) รวย..คำถามจาก“บางระกำโมเดล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันที่ 28 ส.ค.2554 วันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงอธิบดีกรมชลประทาน ฯลฯลงตรวจพื้นที่น้ำท่วมบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นับเป็นจุดสตาร์ท “บางระกำโมเดล” ที่มีการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันช่วยเหลือฟื้นฟูปัญหาอุทกภัยบางระกำ” เป็นแห่งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอบางระกำ

ตามมาด้วยการนโยบายการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยหลัก 2 พี 2 อาร์ ว่าด้วย การเตรียมพร้อม- ป้องกัน-จ่ายชดเชย-เยียวยาผู้ประสบภัย

 “บางระกำโมเดล”เนื้อหาหลักอยู่ที่การทำระบบรายงานตรงยังส่วนกลาง ทำงานรวดเร็ว แก้ไขปัญหาระยะยาว รวมไปถึงนำไปใช้แก้ปัญหาภัยแล้งอีกด้วย

แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จนถึงวันนี้ยังไม่เห็น“บางระกำโมเดล”เป็นรูปธรรม และ ยังไม่ทันครบ 2 เดือน ก็ปรากฏ “หัวคิวบางระกำโมเดล”

ไม่เพียงเท่านั้น งบภัยพิบัติ 50 ล้านบาทแรก แบบฉบับ“บางระกำโมเดล”’ใช้หมดในพริบตา แต่กลับถูกนำไปถลุงเป็นค่าน้ำมัน-กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 33 ล้านบาท

งบภัยพิบัติรอบ 2 อีก 50 ล้านบาท กชภ.จ.ก็ยังอนุมัติเป็นค่ากำจัดสิ่งกีดขวาง ทำฉาวซ้ำอีก 14,689,360 บาท เมื่อการประชุมครั้งที่ 10 (2 ก.ย.54)

คำถามก็คือ คนบางระกำ ได้อะไร นอกจากถุงยังชีพที่เพิ่มขึ้น เรือให้ยืมพาย ที่เป็นเรือเอกชนบริจาคของเอกชน ขณะที่เงินชดเชยน้ำท่วม ไร่ละ 2,222 บาท ซึ่งมีการจ่ายชดเชยให้ผู้ประสบภัยมากถึง 3 หมื่นบาทต่อรายขึ้นไป ก็ถูก “รีดส่วย”กันถ้วนหน้า

เมื่อ 27 ก.ย. นายวิรัตน์, นายสุมาลี, นายเชาว์, นายเชษฐ ลูกบ้านหมู่ 5, 6, 15 ต.บางระกำ และหมู่ 5, 10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ได้รวมตัวกันขึ้นร้องเรียนที่ “ศูนย์บางระกำโมเดล”ว่าถูกผู้ใหญ่บ้าน รีดหัวคิวเงินชดเชยน้ำท่วมไร่นา ตามที่รัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดไร่ละ 2,222 บาท หลังเบิกจาก ธ.ก.ส. ชาวบ้านต้องจ่ายทันทีรายละ 4,000 - 3 หมื่นบาท อ้างว่า ไปให้เกษตรตำบล-อำเภอ และจังหวัด

ต่อมานายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด-อำเภอ สอบสวนข้อเท็จจริง กระทั่งออกคำสั่งพักงานผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 กับอีก 2 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเมื่อ 7 ต.ค.

แต่ไม่มีการแถลงถึงการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลชุมแสงสงครามในกรณีดังกล่าว กระทั่งเมื่อ 17 ตุลาคม 54 จึงมีคำสั่งย้ายด่วน นายดำรงวิทย์ คงเพชร เกษตรตำบลชุมแสงสงคราม ไปทำหน้าที่เกษตรตำบลในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลก แทน

แหล่งข่าวในพื้นที่บางระกำ เปิดเผยว่า “บางระกำโมเดล”ทำให้เงินมาไว และปีนี้ถือว่าเป็นรอบสุดท้ายของคำว่า เงินประกันส่วนต่าง ดังนั้นผู้นำชุมชนจึงรีบโกยเงินรัฐ เพียงแต่คนตำบลชุมแสงสงคราม มีความขัดแย้งกัน การเมืองเลือกข้างระหว่างพรรคใหญ่ 2 พรรค ทำให้มีการปูดเรื่องหัวคิวบางระกำ

สังเกตได้ว่า ก่อนเกิดเรื่อง นายมนัส ทับแผลง กำนันตำบลชุมแสงสงคราม ได้จุดประเด็นข่าว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 (หนองพะยอม) เรียกเก็บเงินค่าหัวคิวบ้านน้ำท่วม หลังละ 5,000 บาท เป็นค่าถ่ายรูปรายละ 100 บาท (วันที่ 12 ก.ย. ) ก็เป็นเพราะอยู่การเมืองคนละขั้ว ซึ่งเป็นผลทำให้กลุ่มคนอีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจออกแฉ “ทุจริตเงินชดเชยค่าน้ำท่วม”กลับ
ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เพียง ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ เท่านั้น ที่ทุจริตหัวคิวน้ำท่วม แต่ที่ ต.คุยม่วง พื้นที่เหนือขึ้นไปเขตติดต่อ ต.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ก็มีปัญหาหนักเช่นกัน เพียงแต่ว่า ชาวบ้านไม่กล้า เพราะรู้ดีว่า หากแฉไป ก็ผิดทั้งลูกบ้านทั้งผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากมีการแจ้งเท็จ ตั้งแต่ขั้นตอนทำประชาคมขึ้นทะเบียนพื้นที่น้ำท่วม

ว่ากันว่า หมู่บ้านแห่งหนึ่งใน ต.คุยม่วง แจ้งพื้นที่น้ำท่วมถูกต้องเพียง 4 รายเท่านั้น นอกนั้นโกงเงินรัฐหมด ภายใต้ข้อตกลงแบ่งกันคนละครึ่ง ทำให้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยมีเกษตรตำบลรับรู้เหตุการณ์

ตัวอย่างเช่น กรณีได้รับเงินโอนจาก ธ.ก.ส.จำนวน 130,000 บาท ชาวนา จะเก็บไว้ 7 หมื่นและแบ่งให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมื่น โดยอ้างว่า ส่งให้นาย

คนทั้งตำบลคุยม่วง 11 หมู่บ้านยอมรับว่า ต้องส่งส่วย จ่ายแบบไม่มีเงื่อนไขทุกหลังคาเรือน ห้ามปากโป้ง เพราะผิดกันคู่ ที่สำคัญการเมืองท้องถิ่นลงตัวเบ็ดเสร็จทุกระดับ

คนบางระกำหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวว่า รัฐบาลสอนชาวบ้านกินเงินหลวง ตั้งแต่เงินส่วนต่างประกันราคาข้าวแล้ว
เช่นเดียวกับพื้นที่ใกล้เคียงกับบางระกำ อย่างกงไกรลาศ จ.สุโขทัย ที่ปรากฏข่าวการทุจริตเงินชดเชยน้ำท่วมตามมาติด ๆ จนผู้ว่าฯ สุโขทัยรู้ ต้องสั่งสอบสวนทันที เนื่องจากมีการทุจริต ในขั้นแรกตั้งแต่ปลอมเอกสาร แจ้งตัวเลขเป็นเท็จ แม้ข้าวถูกเกี่ยวไปแล้ว แต่กลับนำโฉนดและชื่อคนอื่นไปขอรับเงินชดเชยจากรัฐหลายตำบลในเขต อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย

ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อสังเกตอีกว่า กรณีการป้อนตัวเลขน้ำท่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลพื้นที่นาประสบอุทกภัยพิษณุโลก มีกว่า 6 แสนไร่ใน 9 อำเภอ(ครบทุกอำเภอ) จากยอดพื้นที่ทำนา(ปี) จำนวน 1.1 ล้านไร่
นางอุบลรัตน์ ราชแสนเมือง ค้าภายในจังหวัดพิษณุโลก ยืนยันระหว่างตรวจความพร้อมโรงสีข้าว ที่สมัครเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเมื่อ 23 กันยายน 2554 ว่า มีข้าวนาปีเสียหายจากภัยน้ำท่วม 25% จากพื้นที่เพาะปลูกนาปี 2554-2555 จำนวน 1.1ล้านไร่

แต่ตามข้อมูลศูนย์บางระกำโมเดล ระบุว่า 7 ต.ค. คณะกรรมการพิจารณาความช่วยเหลือระดังจังหวัด (กชภ.จ.) อนุมัติจ่ายเงินชดเชยน้ำท่วม พายุไหม่า และนกเตน จำนวน 1,019 ล้านบาท เน้นไปที่ อ.บางระกำ 421 ล้านบาท อ.พรหมพิราม232 ล้านบาท

ยอดเงินชดเชยน้ำท่วม 421 ล้านบาท ของ อ.บางระกำ (พื้นที่ 187,669 ไร่) เป็นการจ่ายเงินให้คนชุมแสงสงคราม และคุยม่วง มากกว่าคน ต.บางระกำ ต.พันเสา ต.บ่อทอง ต.บึงกอก หลายเท่าตัว เพราะมีพื้นที่น้ำท่วมเป็นบริเวณวงกว้างกว่า
และล่าสุด กชภ.จ.รับทราบข้อมูลความเสียหายจาก กชภ.อ.เพื่ออนุมัติเงินช่วยเหลือกรณีพิเศษในสัปดาห์นี้ สำหรับอุทกภัยช่วง 4 ส.ค.- 5 ต.ค. วงเงิน 162,907,436 บาท พร้อมจ่ายให้ชาวนาในอำเภอเมือง, พรหมพิราม, บางกระทุ่ม และวัดโบสถ์

ส่วนเงินช่วยเหลือกรณีพิเศษวงเงิน 202,605,976 บาทอีกล็อต พร้อมจ่ายให้ชาวนา อ.วังทอง, อ.ชาติตระการ, อ.เนินมะปรางและอำเภอเมือง

รวมยอดเงินชดเชย 2 ล็อต รอรับจากรัฐบาลจำนวน 365 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากรวมยอดเงินชดเชยที่จ่ายไปแล้ว 1,019 ล้านบาท กับยอดเงินชดเชยอีก 2 ล็อต จ.พิษณุโลก จะได้รับเงินชดเชยน้ำท่วมปีนี้รวมทั้งสิ้นถึง 1,384 ล้านบาท

และหากยึดตัวเลข “หัวคิวบางระกำโมเดล” แท้จริงแล้ว ยอดความเสียหาย อาจมีเพียง 50%เท่านั้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น