พระนครศรีอยุธยา - น้ำท่วมกรุงเก่ายังวิกฤตไม่หยุด เผย มจร.จมน้ำสูงกว่า 2 เมตร แต่ก็ยังสู้ดูแลผู้อพยพอีกกว่า 800 คน
ด้านผู้ว่าฯอยุธยาชี้แจงชาวบ้านประท้วงปากคลองข้าวเม่า
วันนี้ (17 ต.ค.) พระศรีคัมภีรญาณ (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ) รศ.ดร.รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า พื้นที่ของ มจร.ตั้งอยู่ ต.ลำไทร อ.พระนครศรีอยุธยา เดิมถมสูง 2 เมตรเศษ จากท้องนาเดิม แต่ปัจจุบันน้ำไหลตามทุ่งจาก อ.อุทัย, อ.บางปะอิน และ อ.วังน้อย ได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ของ มจร.จมน้ำสูงไปอีก 2 เมตรเศษ ถือว่าเสียหายอย่างมากโดยเฉพาะอาคารชั้นล่างของทุกอาคาร
แต่ถึงจะเดือดร้อน เพราะถูกน้ำท่วมมานาน 1 สัปดาห์แล้วก็ตาม โดย มจร.และมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็นศูนย์รองรับการอพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา มาก่อนที่ มจร.จะถูกน้ำท่วม และทาง มจร.ก็ยังคงร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา จะดูแลผู้อพยพปัจจุบันที่เกือบ 800 คนต่อไปอีก
และถึงแม้ว่าน้ำจะท่วมหนักเส้นทางถูกตัดขาดทุกด้าน ไฟฟ้าถูกตัด แต่ก็มีการแก้ไขปัญหา โดยจัดหาเครื่องปั่นไฟฟ้ามาใช้ มีการจัดอาหารเลี้ยงดูประชาชนในศูนย์ครบ 3 มื้อ จัดหาน้ำดื่ม น้ำเพื่อใช้กินใช้อาบ จัดหากิจกรรมให้ทำเพื่อคลายเครียด จัดหาทีมแพทย์มาดูแลสุขภาพ โดยผู้อพยพก็อาศัยที่หอฉันท์ชั้น 3 ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่เพียงพอต่อการดูแลประชาชนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น
สำหรับพระสงฆ์และพระนิสิตส่วนใหญ่กลับวัดภูมิลำเนาในต่างจังหวัดไปจำนวนมากแล้วเช่นกัน ที่เหลืออยู่ก็เป็นพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม งานวิชาการดานการเรียนการสอนของ มจร.ก็ต้องหยุดพักชั่วคราว เพราะน้ำท่วมสูง ส่วนพระไตรปิฎกจำนวนมากได้ขนย้ายมายังส่วนที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมแล้วเช่นกัน
สิ่งที่ขาดคือ เรือในการใช้เดินทางเข้าออกระหว่างหอฉันท์ของ มจร.ไปยังจุดถนนพหลโยธินในจุดที่น้ำยังท่วมไม่ถึง ซึ่งมีระยะทางเกือบ 1 กม.เช่นกัน ด้วยเรือที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการขนย้ายข้าของที่จะนำเข้าไปช่วยเหลือผู้อพยพ รวมถึงน้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำมันเติมเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า
ผู้ว่าฯอยุธยาชี้แจงชาวบ้าน
ประท้วงปากคลองข้าวเม่า
ด้านนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากกรณีชาวบ้านปากคลองข้าวเม่าจำนวนหลายตำบลของเขตติดต่อ อ.อุทัย และ อ.พระนครศรีอยุธยา ออกมาประท้วงและขัดขวางการทำงานของเครื่องจักรกรมชลประทานที่เข้าไปตอกชิบพายตรงสะพานข้ามคลองเข้าเม่าติดถนนสายเอเซีย หลัก กม.14 เขต ต.ธนู อ.อุทัย
ในประเด็นนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า เครื่องจกไม่ได้เข้าไปตอกเพื่อปิดทางน้ำไหลทั้งหมดเพื่อหยุดทางน้ำไหลเข้าไปที่ อ.อุทัย แต่ตนเองสั่งเครื่องจักรเข้าไปตอกซิปพายริมๆ ตรงคอสะพาน เพื่อป้องกันการกัดเซาะกระแสน้ำที่คอสะพาน และต้องการตอกซิปพาย เพื่อขวางทางน้ำในบางจุดของทางน้ำไหลเท่านั้น
"ผมยืนยันว่าต้องการตอกชิบพายเพื่อลดปริมาณน้ำไหลเข้า อ.อุทัย เท่านั้น เพราะด้านในเดือนร้อนมาก แต่ไม่ได้ต้องการปิดทางน้ำไหลทั้งหมด ซึ่งก็ต้องเข้าไปเจาจรกับชาวบ้านและขอความเห็นใจ ยอมรับการทำงานด้านมวลชนในการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องลำบากในสถานการณ์แบบนี้ เพราะความเดือนร้อนแผ่กระจายไปทั่วจังหวัดทุกคนเดือนร้อนเช่นกัน ซึ่งหากเจรจาสำเร็จก็อยากดำเนินการต่อในการตอกชิปพายเช่นกัน"
ด้านนายเฉลียว สุขประเสริฐ นายก อบต.ธนู กล่าวว่า ชาวบ้านกลัวว่าจะปิดน้ำให้น้ำท่วมขังบ้านเรือนชาวบ้านสูงขึ้น อยากให้ปล่อยน้ำไปตามธรรมชาติ ไหนๆก็ท่วมนิคมฯโรจนะแล้วหากปิดประตูระบายน้ำปริมาณน้ำจะสูงจนชาวบ้านนอกจากไม่มีที่อยู่แล้วน้ำก็จะท่วมข้าวของที่ยกไว้ที่สูงเสียหายหมด
สำหรับการรถไฟแจ้งมาว่า ขณะนี้พบว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เพิ่มช่องทางการเดินรถจากอยุธยา-กรุงเทพ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชน เพราะถนนสายเอเชียขาดน้ำท่วมสูง การเดินทางด้วยรถยนต์ลำบาก โดยการรถไฟฯจะเดินรถไฟทุกวันดังนี้ เส้นทางเข้ากรุงเทพจาก สถานีอยุธยา - ดอนเมือง เที่ยวแรก ออกเวลา 06.20 น. , เที่ยวสอง ออกเวลา 11.00 น. และเที่ยวสุดท้าย ออกเวลา 16.00 น. ส่วนขาออกกรุงเทพ จากสถานีดอนเมือง - อยุธยา เที่ยวแรก ออกเวลา 08.50 น. , เที่ยวสอง ออกเวลา 13.40 น. และเที่ยวสุดท้าย ออกเวลา 19.30 น.” นายวิทยา กล่าวย้ำ