ชาวบ้านปราจีนฯ รวมตัวค้านเขตอุตสาหกรรม “เมโทรอินดัสเตรียลปาร์ค” ตั้งชิดตัวเมือง-ชุมชน ทั้งยังอยู่ในโซนอนุรักษ์-เกษตรกรรมตามผังเมืองรวม เป็นที่ลุ่มรองรับน้ำ หวั่นซ้ำรอยนิคมโรจนะ-นิคมไฮเทคที่อยุธยา แถมแย่งน้ำภาคเกษตรฯ ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเส้นเลือดหลักจังหวัดและสวนสมุนไพร รพ.อภัยภูเบศร
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ตัวแทนกลุ่ม “ปกป้องเขตอนุรักษ์ พิทักษ์ปราจีนบุรี” ได้เข้าให้ข้อมูลต่อ “ASTVผู้จัดการออนไลน์” ว่า ขณะนี้กำลังจะมีการก่อสร้างโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม “เมโทรอินดัสเตียล ปาร์ค” ของบริษัทเมโทร อินดัสเตียล ปาร์ค จำกัด ในพื้นที่ 5,000 ไร่ บริเวณ ต.รอบเมือง ต.บางเดชะ และ ต.วัดโบสถ์ อ.เมืองปราจีนบุรี เพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรม 5 ประเภท ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 2.อุตสาหกรรมผลิต/ประกอบยานยนต์ 3.การผลิตอัญมณี เครื่องประดับ หรือสิ่งประดิษฐ์มีค่า 4.อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านและมีคุณภาพสูง เช่น นาฬิกา ปากกา เลนส์แว่นตา หรือส่วนประกอบ เป็นต้น และ 5.อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรทั้งที่เป็นอาหารและไม่เป็นอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์จากยางพาราและการแปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตร เป็นต้น
ความคืบหน้าโครงการดังกล่าว บริษัท เทคนิคสิ่งแวดล้อม จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม ได้ทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งแรก เพื่อจัดทำกรอบการศึกษาการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเตรียมทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 เพื่อจัดทำ EIA ต่อไป รวมทั้งได้ทำคันดินกั้นบริเวณโครงการเพื่อจัดทำสำนักงานแล้ว นอกจากนี้ยังมีการซื้อที่ดินเพิ่มในบริเวณเดียวกันอีก 4,000 ไร่ เพื่อเป็นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
ตัวแทนกลุ่มปกป้องเขตอนุรักษ์พิทักษ์ปราจีนบุรี ระบุว่า พื้นที่ก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว เจ้าของบริษัทฯ ได้ซื้อมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ซึ่งเดิมเป็นที่นาของชาวบ้านที่ถูกธนาคารยึด และโดยสภาพแล้วเป็นที่ลุ่มเหมาะสำหรับการเกษตรกรรม และตามผังเมืองรวมปราจีนบุรี ถูกกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งมีข้อห้ามไม่ให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมและกำลังอยู่ในขั้นตอนการออกกฎหมายเพื่อรองรับ แต่ภาคเอกชนได้ฉวยโอกาสเร่งรีบจัดทำ EIA เพื่อให้โครงการได้รับการอนุมัติก่อน
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังตั้งอยู่ใกล้ชุมชนตัวเมืองปราจีนบุรีในระยะทางไม่ถึง 1 กิโลเมตร หากมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาตั้ง ก็จะส่งผลกระทบหลายด้าน อาทิ ทำให้สูญเสียพื้นที่รองรับน้ำ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก (แก้มลิง) ของตัวเมืองปราจีนบุรี สามารถรองรับน้ำได้อย่างน้อย 32 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามโครงการเขตอุตสาหกรรมฯ จะมีการถมพื้นที่ตรงนี้สูงขึ้น 4-6 เมตร ซึ่งถ้าถมพื้นที่เสร็จปริมาณน้ำดังกล่าวจะไม่มีที่ไปทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้น และอาจจะมีปัญหาซ้ำรอยนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหรือนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่ จ.พระนครศรีอยุธยาก็ได้ เนื่องจากอยู่ในที่ลุ่มเช่นเดียวกัน
ตัวแทนกลุ่มฯ ระบุอีกว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งเต็มพื้นที่ ซึ่งจะมีประมาณ 100 โรง จะใช้น้ำ 380,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะเกิดปัญหาการแย่งน้ำกับภาคเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งจะมีการปล่อยน้ำจากบ่อบำบัดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใกล้เคียง และส่งผลกระทบต่อแม่น้ำปราจีนบุรี เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ติดกับคลองบางเดชะที่เป็นสาขาของแม่น้ำปราจีนฯ และอยู่ห่างจากแม่น้ำปราจีนฯ เพียง 1 กิโลเมตร
ทั้งนี้ แม่น้ำปราจีนบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักสายเดียวของจังหวัดที่ประชาชนใช้ประโยชน์ทั้งการเกษตรกรรมและเป็นแหล่งน้ำทำประปา หากเสียไปก็ไม่มีแม่น้ำสายอื่นสำรอง นอกจากนี้ บริเวณที่ตั้งโครงการนับเป็นแหล่งปลูกข้าวชั้นดีของจังหวัด เป็นแหล่งจับกุ้งแม่น้ำ และมีพืชน้ำหายาก 12 ชนิด และอยู่ใกล้กับสวนปลูกพืชสมุนไพรของโรงพยาบาลพระยาอภัยภูเบศรด้วย
นอกจากนี้จะมีปัญหาสังคมตามมาจากการอพยพเข้ามาของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นแหล่งเกษตรอินทรีย์ มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ แต่กลับเอาอุตสาหกรรมมาเพิ่ม ทั้งที่ปัจจุบันในจังหวัดปราจีนบุรีก็มีเขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว 10 แห่ง และประชาชนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในอัตราที่เพิ่มขึ้น
สำหรับการคัดค้านโครงการดังกล่าว ตัวแทนชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมประชาพิจารณ์ครั้งแรกแล้ว และทางกลุ่มได้รณรงค์ให้แสดงการคัดค้านโดยส่งจดหมาย โทรศัพท์ หรือโทรสาร ไปยังบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อมของโครงการ คือ บริษัทเทคนิคสิ่งแวดล้อม จำกัด เลขที่ 48/69-70 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทรศัพท์: 0-2735-3101 โทรสาร 0-2735-3584 เพื่อให้หยุดทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในการจัดทำ EIA
นอกจากนี้ ยังได้ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายฉัตรชัย ปิยะสมบัติกุล เจ้าของบริษัทเมโทร อินดัสเตรียล ปาร์คฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม และยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
รวมทั้งได้ตั้งกลุ่มในเว็บไซต์เฟซบุกชื่อกลุ่ม "ปกป้องเขตอนุรักษ์ พิทักษ์ปราจีนบุรี" เพื่อเป็นสื่อกลางการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย