ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวแวดล้อมของโลกในปัจจุบัน ก่อให้เกิดภัยทางธรรมชาติบ่อยครั้ง และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ภาวะน้ำป่า ดินโคลนถล่ม และภาวะน้ำหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคกลาง ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สิ่งสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย อีกทั้งพื้นที่การเกษตรและทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดูได้จากข้อมูลของ ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหาร
สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่รายงานว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 559,895 ครัวเรือน หรือ 1,841,385 คน พื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้น 23 จังหวัด ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2554
ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรีสระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี และเชียงใหม
รวมทั้งทำให้การคมนาคมเกิดความเสียหายไม่สามารถเดินทางได้หลายในพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือที่รถไฟไม่สามารถวิ่งได้ตั้งแต่จังหวัดลพบุรีขึ้นไป
ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ประสบอุทกภัยประมาณ 60,000 ราย โดย SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในเรื่องของเครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมจนเสียหายจนไม่สามารถทำการผลิตสินค้าได้ รวมถึงเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการ การผลิตขาดแคลน และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบทั้งหมดเป็นผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน
ดูจากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินความเสียหายในเบื้องต้นของเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ว่ามีแนวโน้มละขยายวงกว้างกว่าในปี 2553 โดยเฉพาะภาคการเกษตรกรรม และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปีหน้า
นอกจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปแล้วอีกอุตสาหกรรมที่คาดว่า SMEs จะได้รับผลกระทบ คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จากการประเมินสถานการณ์ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไกลจากตัวเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในตัวเมืองยังเที่ยวได้ปกติ (ยกเว้นจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในตัวเมืองค่อนข้าง รุนแรงพอสมควรโดยเฉพาะการประเมินความเสียหายของโรงแรม
จากการประเมินเบื้องต้นคิดเป็น มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะโรงแรมย่านไนท์บาซาร์ แต่เชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น) แต่จะกระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งหากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลายจะกระทบต่อช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ใกล้จะถึง โดยเฉพาะภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบ 15% ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่ง SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวจะขาดรายได้อย่างแน่นอน
นอกจาก SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว SMEs ในธุรกิจบริการขนส่งและธุรกิจค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน เนื่องจากรถขนส่งสินค้าของ SMEs ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก และเส้นทางการขนส่งสินค้าเสียหายมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปส่งและกระจายสินค้าในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ ส่งผลถึงธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ไม่มีสินค้าขายให้ผู้บริโภค รวมทั้งคำสั่งซื้อสินค้าลดลงเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป ทำให้ยอดส่งสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวลดลงด้วย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้จากการประกอบการ อย่างมาก
จากสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวรัฐบาลได้อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) โดยอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ให้แก่ SMEs ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้ SMEs ใช้ปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการ และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียน วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยเป็นเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term Loan) ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 6 ปี ปลอดชำระเงินต้นใน 2 ปีแรก โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน หรือการค้ำประกัน และการตรวจสอบประวัติทางการเงิน มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 8 % ต่อปีตลอดสัญญา โดยรัฐบาลช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้ 2 % ทุกปี ส่วนผู้ประกอบการจะจ่ายเพียง 6 % ต่อปี
นอกจากนี้ภาครัฐควรพิจารณาถึงมาตรการตรึงราคาสินค้าทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของผู้ประกอบการ เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs หรือมีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นตลาดให้แก่ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น จัดกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวหลังน้ำลด การจัดมหกรรมขายสินค้าในท้องถิ่น เป็นต้น
ในส่วนของ สสว. มีการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการของ SMEs ผ่านแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2555-2559) ภายใต้ยุทธศาสตร์สนับสนุนปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ในกลยุทธ์สร้างภูมิคุ้มกัน ฟื้นฟู และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในรูปแบบต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถแก้ไข ฟื้นฟู และบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ SMEs นั้น สสว. อาจจะมีโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและ/หรือช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการหลังน้ำลด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้และมีเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ และเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้ประกอบการ SMEs อีกทางหนึ่งด้วย
.....เชื่อแน่ว่าโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และของ สสว. จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้อีกครั้ง...